แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำนวนการสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในความครอบครองของพนักงานอัยการ เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกมาเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีแพ่ง พนักงานอัยการจะไม่ยอมส่ง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาหลบหนียังอยู่ในระหว่างหมายจับ ถ้าจับได้มา จะไม่มีสำนวนดำเนินคดีนั้น ไม่เป็นเหตุตามกฎหมายที่จะปฏิเสธคำสั่งของศาลได้ทั้งทางแก้ก็มีอยู่แล้วโดยการคัดสำเนาส่งศาลแทน
พนักงานอัยการเคยนำส่งสำนวนการสอบสวนมาศาลครั้งหนึ่งแล้วในวันพิจารณาและขอรับคืนไปเมื่อเสร็จการพิจารณาเฉพาะวัน ครั้นภายหลังศาลมีคำสั่งเรียกให้ส่งมาเพื่อใช้พิจารณาประกอบการพิพากษา พนักงานอัยการจะปฏิเสธไม่ยอมส่งโดยอ้างว่าเป็นความลับในราชการ ย่อมฟังไม่ขึ้น
การอนุญาตให้คู่ความอ้างเอกสารใดเป็นพยาน และจะมีคำสั่งเรียกมาหรือไม่เป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งได้ตามกฎหมายผู้ครอบครองเอกสารจะโต้แย้งว่า ศาลไม่ควรอนุญาตหรือ ไม่ควรเรียกมาหาได้ไม่
คำสั่งของศาลที่เรียกเอกสารจากผู้ครอบครอง กฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ศาลจะมีคำสั่งในรูปหนังสือราชการก็อาจทำได้
การหมายเรียกบุคคลที่ปฏิเสธไม่ยอมส่งเอกสารมาศาลเพื่อให้ชี้แจงเหตุผลนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งยืนยันให้ส่งเอกสารก็แสดงอยู่ในตัวว่าการปฏิเสธนั้นไม่มีเหตุผลฟังได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาท ชนรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์เสียหาย โจทก์ต้องใช้เงินให้ 34,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ในการพิจารณาคดี โจทก์ระบุอ้างสำนวนการสอบสวนคดีที่ 6/2508ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสกลนครเป็นพยาน ซึ่งอยู่ที่อัยการจังหวัดสกลนคร ขอให้ศาลเรียกมา ศาลมีคำสั่งเรียก
อัยการจังหวัดสกลนครมีหนังสือถึงศาลว่า สำนวนนั้นอยู่ระหว่างการสั่งจับผู้ต้องหา หากจับมาได้จะไม่มีสำนวนดำเนินคดีจึงไม่สามารถส่งมาศาลได้
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่ออัยการขัดข้องส่งสำนวนไม่ได้ ก็ขอให้ศาลเรียกให้ส่งสำเนาแทน ศาลมีคำสั่งถึงอัยการจังหวัดสกลนครให้ส่งสำเนาการสอบสวน
อัยการจังหวัดสกลนครมีหนังสือแจ้งว่า สำนวนดังกล่าวอยู่ในระหว่างสั่งจับไม่สามารถส่งศาลได้ แต่ส่งสำเนาแผนที่เกิดเหตุมาศาล
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่ออัยการขัดข้องส่งสำเนาไม่ได้ ก็ขอให้ส่งสำนวนต่อศาลในวันพิจารณาและรับกลับไปทุก ๆ ครั้งจนกว่าจะได้พิจารณาพิพากษาคดี
ศาลมีหนังสือถึงอัยการตามที่โจทก์ขอ
อัยการจังหวัดสกลนครมีหนังสือถึงศาลว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำสำนวนมาศาลรวม 24 แผ่น เมื่อเสร็จการพิจารณาในวันนั้น ขอให้ส่งคืนและศาลได้มอบคืนให้ไปแล้ว
ต่อมาศาลพิจารณาคดีเสร็จสำนวนและนัดฟังคำพิพากษา
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลนำเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.7 ในสำนวนการสอบสวนดังกล่าวแล้วมาพิจารณาประกอบการพิพากษาคดีด้วย ซึ่งศาลได้มีหนังสือถึงอัยการให้ส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวต่อศาล
อัยการจังหวัดสกลนครมีหนังสือถึงศาลว่า สำนวนการสอบสวนดังกล่าวพนักงานอัยการสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาหลบหนี อยู่ในระหว่างออกหมายจับ ตามระเบียบของกรมอัยการถือว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนเป็นความลับ ทั้งถ้าจับผู้ต้องหาได้ถ้าส่งสำนวนต่อศาลเสียแล้ว ก็จะไม่มีสำนวนดำเนินคดี จึงไม่สามารถส่งสำนวนมาศาลได้ แต่หากศาลประสงค์จะตรวจและแสดงต่อคู่ความเป็นครั้งคราว เสร็จแล้วคืนไปก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
ศาลสั่งงดการฟังคำพิพากษาไว้ก่อน และนัดโจทก์จำเลยและอัยการมาศาลเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่อัยการขัดข้องการส่งสำนวน อัยการแถลงขัดข้อง โจทก์ยืนยันติดใจอ้างเอกสาร ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานอัยการส่งพยานเอกสารในสำนวนการสอบสวนที่โจทก์อ้างภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2510 ถึงกำหนดพนักงานอัยการไม่ส่งเอกสารตามคำสั่ง ศาลจึงมีหนังสือให้อัยการจังหวัดมาศาลเพื่อสอบถามเรื่องไม่ส่งเอกสาร
อัยการจังหวัดแถลงว่า สำนวนการสอบสวนดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของอัยการจังหวัดและอัยการผู้ช่วยซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมกัน ไม่สามารถส่งพยานเอกสารนี้ได้ เพราะอยู่ในระหว่างสั่งจับผู้ต้องหา ถ้าได้ตัวมาจะไม่มีสำนวนดำเนินคดี
ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงมีคำสั่งให้อัยการจังหวัดผู้ครอบครองเอกสารนำเอกสารที่โจทก์อ้างมาส่งศาลภายใน 30 วัน
พนักงานอัยการจังหวัดสกลนครผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่ชอบที่จะเรียกเอกสารในสำนวนการสอบสวนตามที่โจทก์อ้าง เพราะโจทก์เพิ่งแถลงเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว และโจทก์ชอบที่จะนำสืบพยานบุคคลโดยไม่ต้องอ้างเอกสารนั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาที่จะพิจารณาว่าผู้ร้องจะต้องส่งเอกสารตามที่ศาลเรียกหรือไม่ ศาลจะอนุญาตให้คู่ความอ้างเอกสารใดเป็นพยานและจะมีคำสั่งเรียกมาหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งไปได้ตามกฎหมาย ผู้ร้องจะอุทธรณ์ฎีกามิได้ ปัญหาของผู้ร้องมีแต่เพียงว่า ผู้ร้องจะไม่ส่งเอกสารตามที่ศาลมีคำสั่งเรียกได้หรือไม่เท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ผู้ร้องตอบขัดข้องไม่ส่งเอกสารโดยอ้างว่าผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ในระหว่างหมายจับ ถ้าจับได้จะไม่มีสำนวนใช้ดำเนินคดีนั้น ไม่เป็นเหตุตามกฎหมายที่จะไม่ส่งเอกสารตามที่ศาลสั่งเรียก ต่อมาเมื่อศาลมีคำสั่งให้ส่งสำเนาแทน ผู้ร้องก็ตอบขัดข้องโดยเหตุเดียวกันอีก แต่ส่งสำเนาแผนที่เกิดเหตุให้ หากผู้ร้องส่งสำนวนการสอบสวนต่อศาลไม่ได้ เพราะเกรงจะไม่มีสำนวนใช้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาจริง ก็น่าจะส่งสำเนาต่อศาลได้ ต่อมาศาลสั่งให้ผู้ร้องส่งสำนวนการสอบสวนนั้นไปศาลเสร็จแล้วให้นำกลับคืนได้ผู้ร้องก็ได้ให้เจ้าหน้าที่นำสำนวนมาส่งศาล และเมื่อเสร็จการพิจารณาในวันนั้นแล้วขอคืน อันเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่า สำนวนการสอบสวนนี้ไม่เป็นความลับ จึงมิได้ปฏิเสธไม่ยอมนำเอกสารนั้นมาแสดงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 92 ครั้นเมื่อคดีเสร็จสำนวน ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสาร 6 ฉบับในสำนวนการสอบสวนตามที่โจทก์ขอมาพิจารณาประกอบการพิพากษา ผู้ร้องกลับตอบขัดข้องไม่ยอมส่งอ้างว่าเป็นความลับและหากจับผู้ต้องหาได้จะไม่มีสำนวนดำเนินคดี เห็นได้ว่าข้ออ้างของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ข้อที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลมีหนังสือให้ผู้ร้องส่งเอกสารนั้นเป็นหนังสือราชการธรรมดา การปฏิเสธของผู้ร้องไม่ทำให้ศาลมีอำนาจเรียกผู้ร้องไปศาลเพื่อสอบถามนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะเรียกเอกสารจากบุคคลใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็บัญญัติแต่เพียงให้ศาลมีคำสั่ง หนังสือของศาลดังกล่าวก็เป็นหนังสือที่ศาลสั่งให้ผู้ร้องส่งสำนวนการสอบสวนต่อศาลต่อเนื่องมาจากที่ศาลได้เคยมีคำสั่งเรียกเอกสารนี้มาแล้ว ส่วนเมื่อศาลชั้นต้นเรียกผู้ร้องมาสอบถามแล้ว แม้จะไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าเป็นความลับในราชการหรือไม่ แต่การที่ศาลมีคำสั่งยืนยันให้ผู้ร้องส่งเอกสารเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าเป็นความลับและจะไม่มีสำนวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหานั้นฟังไม่ขึ้น ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 92 ก็บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยเพียงว่า การปฏิเสธไม่ยอมนำพยานหลักฐานมาแสดงนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือไม่เท่านั้น
ฎีกาของผู้ร้องนอกจากนี้ไม่เป็นแก่นสารแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย พิพากษายืน