คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำให้ไว้แก่จำเลย ข้อ (1) ระบุว่า “ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป…” สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีต่อจำเลย การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,133,268.24 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,133,268.24 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2537 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคา และหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา (แอลจี) เพื่อนำไปเป็นหลักประกันการยื่นซองประกวดราคาและเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาต่อทางราชการ เพื่อเป็นหลักประกันต่อจำเลย โจทก์ได้นำเงินจำนวน 2,000,000 บาท ฝากในบัญชีเงินฝากประจำไว้ต่อจำเลยสาขาท่ายาง โดยทำสัญญาจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลโดยนามตามเอกสารหมาย ล.2 กับทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นประกันหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น เป็นหนี้จำเลย กับโจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวชำระหนี้ที่โจทก์ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น เป็นหนี้จำเลยได้ หลังจากนั้นจำเลยได้ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคา และหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเพื่อนำไปยื่นต่อทางราชการหลายครั้ง หนังสือค้ำประกันทุกฉบับสิ้นความผูกพันแล้ว ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น ได้ทำสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยจำนวน 2,000,000 บาท โดยมีนายสมปอง แย้มกล่ำ จำนองที่ดินเป็นประกันกับมีนายชิน ขำเพชร หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันภายหลังห้างฯ มีหนี้ค้างชำระแก่จำเลย จำเลยจึงได้นำเงินฝากประจำของโจทก์หักชำระหนี้ของห้างฯ ดังกล่าวคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิที่จะนำเงินฝากประจำของโจทก์ดังกล่าวหักชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดกาญจน์คอนสตรัคชั่น ได้หรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าขณะที่โจทก์ทำบัญชีเงินฝากประจำไว้โจทก์ได้ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินในบัญชีเงินฝากประจำ ตามเอกสารหมาย ล.1 สัญญาจำนำตราสารชนิดออกให้แก่บุคคลโดยนามเอกสารหมาย ล.3 ให้ไว้แก่จำเลยด้วย ซึ่งข้อความในหนังสือค้ำประกัน ข้อ (1) ระบุว่า “ผู้ค้ำประกันยินยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่นได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป…” ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น มีภาระหนี้เงินกู้และเบิกเงินบัญชีต่อจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินในบัญชีฝากประจำของโจทก์ชำระหนี้ได้ ปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายวิจิตร ดีประยูร นายกำพล เกตุตรีกร และนายพิศาล เจตนาพรสำราญ ซึ่งทุกคนเคยเป็นพนักงานจำเลยสาขาท่ายาง ในขณะที่โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประจำ และทำหนังสือค้ำประกันตามเอกสาร ล.3 ซึ่งขณะนั้นนายวิจิตรมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคาร นายกำพลมีตำแหน่งเป็นพนักงานสินเชื่อ นายพิศาลมีตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชี พยานทั้งสามปากดังกล่าวเบิกความตรงกันว่า การที่โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันต่อจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 โจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดกาญจน์คอนสตรัคชั่น ขอให้จำเลยออกหนังสือสัญญาค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นของห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น ที่มีต่อจำเลยแต่อย่างใด เห็นว่า นายวิจิตรพยานโจทก์เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยขณะที่มีการทำสัญญา ย่อมล่วงรู้ถึงเจตนาของคู่สัญญาได้เป็นอย่างดี คำเบิกความของนายวิจิตรและพยานโจทก์คนอื่นซึ่งล้วนเป็นพนักงานของจำเลยและเบิกความตรงกันจึงยิ่งมีน้ำหนักในการรับฟัง เมื่อได้พิเคราะห์ถึงแบบหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในภาระหนี้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญาแต่เนื่องจากเป็นสัญญาสำเร็จรูป ลูกค้าที่มาขอทำนิติกรรมกับธนาคารก็จำต้องยอมลงชื่อในสัญญาดังกล่าวโดยไม่อาจโต้แย้งได้ นอกจากนี้การที่จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น ในแต่ละครั้ง จำเลยจะให้โจทก์ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันควบคู่ไปกับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยออกให้ทุกครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.15 นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายธีระ มาเอี่ยม พยานจำเลยว่า ในวันที่โจทก์ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นวันเดียวกันกับที่ห้างฯ ขออนุมัติวงเงินในการออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยได้ออกหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.35 ด้วย ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์ค้ำประกันหนี้เฉพาะรายเท่านั้น ส่วนการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์สตรัคชั่น ทำสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมจำนวนเงิน 2,000,000 บาท จำเลยได้ให้นายสมปองจำนองที่ดินที่มีราคาประเมินประมาณ 3,000,000 บาท เป็นประกัน อีกทั้งให้นายสมปองและนายชินหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างฯ ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่างหากถ้าจำเลยมีเจตนาจะให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวของห้างฯ จำเลยน่าจะให้โจทก์เข้ามาทำสัญญาค้ำประกันเป็นการเฉพาะเจาะจง ดังเช่นที่เคยให้โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการที่จำเลยออกหนังสือค้ำประกันให้ห้างฯ ในแต่ละครั้ง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 ทำขึ้นเพื่อค้ำประกันการออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจน์คอนสตรัคชั่น จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share