แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้การฟ้องคดีเรื่องขับไล่ออกจากที่ดินจะถือเป็นเรื่องจัดการสินสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477และโจทก์เป็นหญิงมีสามี ยื่นฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ก็ไม่มีผลถึงกับจะต้องยกฟ้อง เพราะเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 การที่โจทก์ยื่นหนังสือยินยอมอนุญาตให้ฟ้องคดีของสามี และศาลชั้นต้นสั่งรับไว้ เป็นเรื่องศาลให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ และไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุอ้างหนังสือดังกล่าวไว้ในบัญชีพยานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 อีก ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวและวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านที่อยู่อาศัยออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3842 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองกับบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะรื้อถอนบ้านออกไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3842 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีเนื้อที่ 67 ตารางวา เดิมมีชื่อนางแมว ศุขโตเป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานางแมวตาย นางสอาด สิงหประเสริฐจึงขอแก้ทะเบียนรับมรดกในวันที่ 16 กันยายน 2489 แล้วนางสอาดจดทะเบียนโอนขายให้แก่นางสาวถวิล เร่งประเสริฐ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2518 และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2522 นางสาวถวิลได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ในราคา 130,000 บาท มีหลักฐานตามโฉนดและสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 กับ จ.2 จำเลยทั้งสองเป็นสามีภรรยากันและได้เข้ามาอาศัยอยู่กับนางจวง ศรีกนก (ย่าของจำเลยที่ 2) ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินนั้น ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2520 นางจวงก็ถึงแก่ความตาย ขณะนี้จึงมีแต่จำเลยทั้งสองอยู่บ้านในที่ดินนั้น
ปัญหาข้อแรกที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นหญิงมีสามีและยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีหนังสือยินยอมอนุญาตของสามี แม้ต่อมาสามีจะทำหนังสือยินยอมอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีได้ ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังไม่ได้ระบุอ้างหนังสือยินยอมอนุญาตดังกล่าวไว้ในบัญชีพยานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 (ที่ถูกเป็นมาตรา 88) อีกด้วย จึงรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวไม่ได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้การฟ้องคดีนี้จะถือเป็นเรื่องจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477 และโจทก์บกพร่องในเรื่องความสามารถจริงเพราะโจทก์เป็นหญิงมีสามีและยื่นฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ก็ไม่มีผลถึงกับจะต้องยกฟ้องเพราะเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 การที่โจทก์ยื่นหนังสือยินยอมอนุญาตให้ฟ้องคดีของสามี และศาลชั้นต้นสั่งรับไว้ต้องถือเป็นเรื่องศาลให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถตามมาตรา 56 และไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องระบุอ้างหนังสือยินยอมอนุญาตฉบับดังกล่าวไว้ในบัญชีพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารดังกล่าวและวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาท แทนโจทก์