คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างรายเดือนที่มาทำงานให้นายจ้างในวันหยุดงานมีสิทธิได้ค่าจ้างเป็น 2 เท่าตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 มาตรา 26
นายจ้างประกาศไม่จ่ายค่าจ้าง 2 เท่าให้ลูกจ้างรายเดือนโดยเข้าใจข้อกฎหมายผิด ฝ่ายลูกจ้างไม่ทักท้วงและไม่เรียกร้องเอาค่าจ้างจนล่วงเวลา 1 ปีเศษจึงมาฟ้อง โดยจำเลยก็ยินดีจะจ่ายให้ตามความเห็นของสารวัตรแรงงาน ดังนี้ จะถือว่านายจ้างจงใจผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างโดยไม่มีเหตุผลสมควรไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 มาตรา 33 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลย และโจทก์มิได้หยุดงานในวันหยุดงานประจำปีรวม 14 วัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างในอัตรา 2 เท่าตามพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 มาตรา 26 รวมเป็นเงิน 780.03 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายเงินรายนี้โดยฝ่าฝืนกฎหมายและไม่มีเหตุผลอันสมควร จำเลยต้องรับผิดเสียค่าจ้างเพิ่มให้โจทก์อีกร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วันของเงินที่ค้างชำระตามพระราชบัญญัติแรงงานมาตรา 33 อีกด้วย ซึ่งคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินอีก 4,802.07 บาท จึงฟ้องขอให้ชำระเงิน 2 จำนวนดังกล่าวพร้อมทั้งค่าจ้างเพิ่มอีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างชำระ 780.03 บาท ทุกระยะ 7 วัน จนกว่าจะใช้เงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า เมื่อสารวัตแรงงานชี้แจงว่าต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในวันที่โจทก์ทำงานในวันหยุดงานด้วย จำเลยก็ไม่ขัดข้องที่จะจ่ายให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับเพราะเกี่ยงจะเอาค่าจ้างเพิ่มอีกด้วย ซึ่งจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย เพราะมิได้ผิดนัด และจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่ายังไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันหยุด 14 วันที่โจทก์ทำงานเท่านั้น เป็นเงิน 779.35 บาท

โจทก์ฎีกาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามพระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ. 2499 มาตรา 33 วรรคสอง ด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ประกาศไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายเดือนที่มาทำงานในวันหยุดเป็น 2 เท่า แต่โจทก์ไม่ทักท้วงและไม่เรียกร้องเอาค่าจ้างจนล่วงเวลาถึง 1 ปีเศษ น่าเชื่อว่าจำเลยเข้าใจข้อกฎหมายผิดไป จะถือว่าจำเลยจงใจผิดนัดโดยไม่มีเหตุสมควรยังไม่ได้ ต่อมาเมื่อโจทก์เรียกร้อง จำเลยก็ไม่ปฏิเสธแต่ได้หารือสำนักงานใหญ่และทนายความตลอดจนสารวัตแรงงาน เมื่อสารวัตแรงงานให้จ่าย จำเลยก็ยินดีจ่ายให้ แต่โจทก์รีบมาฟ้องเสียก่อนและเรียกเอาค่าจ้างเพิ่มด้วย ซึ่งสารวัตรแรงงานก็เห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดจึงพิพากษายืน

Share