คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชมีผลเด็ดขาดเป็นกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนพระบรมราชโองการดังกล่าวก็ยังมีผลอยู่ กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันหาลบล้างพระบรมราชโองการนั้นไม่
พินัยกรรมซึ่งพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชได้มีพระบรมราชโองการสลักหลังให้ใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมาย ย่อมมีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นได้ตลอดมา ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าพินัยกรรมนั้นจะมีข้อกำหนดที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เพราะศาลจะพิพากษาให้ผิดไปจากพินัยกรรมนั้นไม่ได้
การที่โจทก์ได้ร่วมรู้เห็นยินยอมให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินตามพินัยกรรมเพื่อนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท โดยโจทก์ยอมรับเอาเงินส่วนแบ่งเช่นเดียวกับทายาทอื่น และโจทก์เองเป็นผู้วิ่งเต้นขอปลดเปลื้องข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมที่ห้ามขายที่ดินนั้นเพื่อรับประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษนอกเหนือจากส่วนแบ่งและยังอาศัยเป็นเครื่องมือเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ซื้อที่ดินจนได้รับผลสมประสงค์ แล้วโจทก์กลับมาฟ้องขอให้ห้ามผู้จัดการมรดกแบ่งเงินแก่ทายาท แต่ให้นำเงินไปซื้อที่ดินอื่นแทนตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เป็นการอาศัยศาลกลั่นแกล้งผู้จัดการมรดกและทายาทอื่นให้เดือดร้อนเสียหายถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรีพระยาศรีกฤดากร ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์

เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 11มิถุนายน 2460 กำหนดให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ให้คงเป็นสมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์อยู่ตลอดไป แต่ให้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่มิได้และผู้อาศัยไม่มีสิทธิที่จะถือว่าที่ดินนั้นเป็นของตน แต่ถ้าที่ดินนี้จำเป็นต้องขายหรือแลกเปลี่ยนด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยประการใด ๆ ขอให้ผู้จัดการมรดกเอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในหนังสือพินัยกรรมโดยดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏตามสำเนาพินัยกรรมท้ายฟ้อง เอกสารหมาย 1 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้เป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามพระราชกำหนดทุกประการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2460 ปรากฎตามสำเนาพระบรมราชโองการท้ายฟ้อง เอกสารหมาย 2 พินัยกรรมฉบับดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่ล่วงละเมิดมิได้ และจากข้อกำหนดพินัยกรรมเห็นได้ชัดว่า เจ้ามรดกมีเจตนาจะไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพินัยกรรมอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าจำเป็นต้องขายก็ให้ผู้จัดการมรดกเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินแห่งอื่นเพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้อยู่อาศัยในที่ดินที่ซื้อใหม่ ตามเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรม

เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2509 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้ทำสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922และ 4923 ให้แก่ผู้มีชื่อ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองโฉนดให้แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2510 แล้วไม่เอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปซื้อที่แห่งอื่นเพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้อยู่อาศัยตามเจตนาของเจ้ามรดกกลับแจ้งให้โจทก์และทายาทอื่น ๆ ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ไปรับเงินส่วนแบ่งจากการขายที่ดินดังกล่าวปรากฏตามสำเนาหนังสือท้ายฟ้อง เอกสารหมาย 3 อันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในพินัยกรรมทำให้โจทก์และวงศ์ญาติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ผู้มีสิทธิอาศัยตามพินัยกรรม ทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือที่จะเกิดมาในกาลข้างหน้าได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้รับตามพินัยกรรม

ขอให้พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดก หรือผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 ไปแบ่งให้แก่ทายาทของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ แต่ให้นำไปซื้อที่ดินอื่น จัดให้วงศ์ญาติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้อยู่อาศัยตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2460

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกจริงตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากหน้าที่ผู้จัดการมรดก และศาลสั่งอนุญาตให้ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2510 แล้ว จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการมรดกต่อไปแต่อย่างใด

ก่อนและหลังที่จำเลยเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าวโจทก์และบรรดาทายาทได้ตกลงกันให้ขายที่ดินมรดกรายนี้แล้วเอาเงินมาแบ่งกันในระหว่างทายาท เพื่อไปจัดการซื้อที่ดินอยู่เองตามความพอใจ ไม่ต้องการให้เอาเงินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ให้อยู่รวมกันจำเลยจึงได้กระทำไปตามความประสงค์ของโจทก์และบรรดาทายาททุกคน หาได้กระทำไปโดยพลการไม่

การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพราะเดิมโจทก์เป็นผู้หนึ่งที่วิ่งเต้นขายที่ดินมรดกรายนี้ได้มีเจตนาไม่สุจริต เอาเปรียบทายาทอื่นโดยเรียกเก็บเอาเงินส่วนแบ่งจากทายาทอื่นโดยไม่ชอบ และยังหาทางเรียกร้องเอาประโยชน์จากผู้ซื้อเป็นส่วนตัวอีก จึงเป็นการกระทำให้เกิดการเสียหายและเสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น หากแต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่เป็นผลสำเร็จ โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์สมประสงค์จึงกลับคำที่ตกลงไว้แต่เดิม ฟ้องคดีนี้ขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งบรรดาทายาทให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะทำให้เกิดการเสียหายแก่บรรดาทายาทและกองมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง และจำเลยขอตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยโจทก์ไม่มีสิทธิอาศัยในที่ดินมรดกตามเงื่อนไขในพินัยกรรม เพราะโจทก์มีบ้านเรือนอาศัยอยู่เป็นของโจทก์แล้ว กับฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ระบุชื่อทายาทคนใดได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย และจำเลยที่ 2 พ้นจากหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

หม่อมหลวงสารี ศิริวงศ์ หม่อมหลวงไข่ เนียมลอย นางปราณีกุญชร ณ อยุธยา นางแสงแข เมฆสวัสดิ์ นางไขศรี พนมวัน ณ อยุธยานางสาวศิริวัฒน์ กุญชร ณ อยุธยา หม่อมหลวงขาบ กุญชร ณ อยุธยาร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลสั่งอนุญาต

ก่อนศาลทำการสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนคู่ความรับกันว่า สำเนาพินัยกรรมและสำเนาพระบรมราชโองการท้ายฟ้องมีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับ และโจทก์รับว่า จำเลยที่ 2 พ้นจากหน้าที่ผู้จัดการมรดกไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ลาออกจากผู้จัดการมรดกซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วก่อนถูกโจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดก การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งเงินให้ทายาทเพื่อไปหาซื้อที่อยู่เอง เป็นการจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์โดยดีที่สุดที่จะทำได้ดังกำหนดไว้ในหนังสือพินัยกรรมข้อ 2 แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าทายาทได้ให้ความยินยอมหรือไม่ ส่วนการที่ทายาทจะถือเอาที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนอันจะเป็นการขัดกับหนังสือพินัยกรรมข้อ 1 ที่ว่าผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะถือว่าที่ดินเป็นของตนได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีผู้โต้แย้งสิทธิอันจะเป็นประเด็นในคดีนี้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ ได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย 1 และได้นำพินัยกรรมนี้ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบารมีโปรดเกล้าฯ เพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายบังคับต่อไปได้ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตามสำเนาเอกสารหมาย 2 แล้วพินัยกรรมนี้จึงมีผลเป็นกฎหมายที่ยังใช้บังคับได้อยู่และมีผลบังคับได้ต่อไป ในพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923กำหนดตั้งผู้ดูแลที่ดินดังกล่าวให้ผู้ดูแลรักษาไว้ให้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้ แต่ผู้อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะถือว่าที่ดินนั้นเป็นของตน และถ้าที่ดินนี้จำต้องขายหรือเปลี่ยนแปลงไป ขอให้ผู้จัดการเอาเงินนั้นมาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในหนังสือฉบับนี้ การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 แล้วแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่ทายาทเพื่อให้ทายาทไปจัดการซื้อที่อยู่ใหม่เองโดยเอกเทศเป็นการกระทำผิดเจตนาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เจ้ามรดกที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมซึ่งควรจะมีที่ดินที่ซื้อใหม่ด้วยเงินที่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 มาแทนที่เก่าที่สิ้นสภาพไปจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 3ในฐานะผู้จัดการมรดกเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 ตามพินัยกรรมไปแบ่งแก่ทายาทเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์นำเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวแล้วไปซื้อที่ดินอื่นแทนใหม่ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2460 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมทั้ง 7 คนฎีกาว่า พินัยกรรมของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์ส่วนตัวหรือเอกชน ซึ่งจะต้องมีตัวผู้รับประโยชน์แน่นอนและกำหนดเวลาสิ้นสุด ไม่ใช่มีผลเป็นอนันตกาลย่อมเป็นโมฆะ โจทก์ไม่ใช่วงศ์ญาติที่หาที่อยู่มิได้ตามข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม ทั้งโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โดยยินยอมให้แบ่งเงินแก่ทายาทผู้หาที่อยู่มิได้ไปจัดซื้อที่ปลูกบ้านอยู่เอง เหตุที่โจทก์ไม่ยินยอมภายหลัง เพราะโจทก์ไม่ได้เงินตามที่ต้องการ โจทก์ไม่มีสิทธิ(อำนาจ) ฟ้องร้อง และการซื้อที่ดินใหม่ให้เป็นสมบัติของเจ้ามรดกก็เป็นเวลาภายหลังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6ซึ่งในมาตรา 1686 ห้ามตั้งทรัสต์ไว้เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายการที่ผู้จัดการมรดกแบ่งเงินให้ทายาทไปซื้อที่ดินตามควรแก่อัตภาพโดยอิสระ ย่อมเป็นการจัดการไปตามความประสงค์ของเจ้ามรดกโดยดีที่สุดที่จะทำได้ตามข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมแล้ว ขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ของทนายจำเลยร่วมและประชุมปรึกษาแล้ว

ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติได้ในเบื้องต้นมีว่า เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 11 มิถุนายน 2460 ตามสำเนาเอกสารหมาย 1 ท้ายฟ้อง โดยมีคำปรารภว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีอายุอยู่มาได้ถึง 65 ปี มีโอกาสให้พิจารณาเห็นการเป็นไปในสกุลแห่งข้าพระพุทธเจ้าด้วยกาลนาน จึงมีความปรารถนาที่จะให้ความสงเคราะห์แก่บุตรภรรยาวงศ์ญาติตามที่จะให้ได้ ซึ่งคิดด้วยเกล้าฯ ว่า เป็นทางดีที่สุดที่จะพึงทำ ข้อ 1 แห่งพินัยกรรมกำหนดว่า ที่ดินโฉนเลขที่ 4922 และ 4923 ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่รวม 21 ไร่ 1 งาน 47 วา ให้คงเป็นสมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์อยู่เสมอไป และแต่งตั้งผู้ปกครองดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวไว้ให้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่มิได้ แต่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะถือว่าที่ดินนั้นเป็นของตน และทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองหาได้ไม่ กับได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ถ้าที่ดินรายนี้จำเป็นต้องขายหรือต้องแลกเปลี่ยนด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยประการใด ๆ ขอให้ผู้จัดการ (มรดก) เอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่น และจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในหนังสือ(พินัยกรรม) ฉบับนี้โดยดีที่สุดที่จะทำได้ แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ขอพระราชทานพระบารมีปกเกล้าฯ เพื่อจะให้มีผลใช้บังคับต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สลักหลังท้ายหนังสือ (เอกสารหมาย 1) เป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ห้ามมิให้ผู้พิพากษาตุลาการรับฟ้องพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ให้ผิดจากหนังสือต่างพินัยกรรมดังปรากฏตามสำเนาพระบรมราชโองการซึ่งได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2460 ตามเอกสารหมาย 2 ท้ายฟ้อง

แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ได้มีประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นมา โดยมีบทบัญญัติมาตรา 1599, 1600 ให้ทรัพย์สินทั้งหลายของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท และมาตรา 1686 ห้ามการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมประการหนึ่ง จึงมีปัญหาว่ากฎหมายในปัจจุบันได้ยกเลิกเพิกถอนพินัยกรรมของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สลักหลังรับรองหรือไม่

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า เอกสารหมาย 2 เป็นพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีผลเด็ดขาดเป็นกฎหมายเมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอน พระบรมราชโองการดังกล่าวจึงยังมีผลอยู่ กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันหาลบล้างพระบรมราชโองการนั้นไม่พินัยกรรมตามเอกสารหมาย 1 ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย 2 จึงมีผลที่ยังใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งศาลจะพิพากษาความอันเกี่ยวข้องกับที่ดินของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ให้ผิดจากพินัยกรรมเป็นการขัดต่อพระบรมราชโองการหาได้ไม่ เหตุนี้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย 1 จะเข้าลักษณะเป็นการก่อตั้งทรัสต์หรือไม่ และการซื้อที่อื่นมาแทนที่ดินที่ขายไปในขณะนี้จะเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 1686 หรือไม่ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัย

ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการขายที่ดินตามพินัยกรรมโฉนดที่ 4922 และ 4923 ให้แก่บริษัททนุก่อสร้าง จำกัด ไปในราคา 16 ล้านบาท โดยทำสัญญาจะซื้อขายกันเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2509 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อวันที่4 เมษายน 2510

มูลเหตุที่ต้องขายที่ดินตามพินัยกรรม จำเลยและจำเลยร่วมนำสืบถึงความเป็นมาว่า จำเลยทั้งสามได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2505 ก่อนหน้านี้พระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ร่วมกับบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาจำเลยที่ 2 ลาออก และนายเทวมิตรกุญชร ณ อยุธยา เป็นแทน เมื่อ พ.ศ. 2498 ครั้งพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เป็นผู้จัดการมรดก บรรดาทายาทได้ประชุมกันตกลงให้ขายที่ดินตามพินัยกรรมเพื่อนำเงินมาแบ่งกันไปซื้อที่ดินของตนเป็นเอกเทศ พอจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ก็ได้รับมอบหมายเอกสารต่าง ๆ เช่น เอกสารการประชุมทายาทและคำแถลงการณ์ของกรรมการผู้ดำเนินการ ตามเอกสารหมาย ล.13, 14 ความคิดที่จะขายที่ดินกองมรดกเกิดจากข้อยุ่งยาก เช่นผู้มีสิทธิอยู่อาศัยนำคนอื่นมาเช่าหาผลประโยชน์ส่วนตัวทายาทที่มีที่อยู่แล้วกลับเข้าไปอยู่ แต่ทายาทบางคนก็เข้าไปอยู่ไม่ได้เพราะไม่มีที่ว่าง การปลูกสร้างในที่ดินไม่เป็นระเบียบรุกล้ำเขตที่กันและการเสียภาษีที่ดินก็เป็นภาระของทายาทที่อยู่ที่อื่น ซึ่งเป็นเรื่องลำบากแก่การจะอยู่รวมกันต่อไป แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องขออนุมัติต่อรัฐบาลเพื่อขอปลดเปลื้องข้อกำหนดตามพินัยกรรมเสียก่อน พระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์จึงได้มีหนังสือขออนุมัติขายที่ดินตามพินัยกรรมต่อรัฐบาลตามเอกสาร ล.25 โดยทายาทตกลงกันมอบหมายให้โจทก์วิ่งเต้นติดต่อกับกระทรวงมหาดไทย ต่อมา พ.ศ. 2505 นางเกสนี กาญจนาลัย ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินทั้งหมดเป็นเงินเก้าล้านบาทเป็นรายแรก ทายาทยินยอมให้โจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าวิ่งเต้น หากสามารถขอปลดเปลื้องข้อกำหนดตามพินัยกรรมได้สำเร็จ ซึ่งต่อมารัฐบาลอนุมัติให้ขายที่ดินได้ แต่การซื้อขายกับนางเกสนีผู้ซื้อต้องเลิกล้มไป ต่อมาโจทก์ก็ได้นำพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัช มาตกลงซื้อเป็นรายที่สองในราคาสิบสองล้านห้าแสนบาทในการนี้โจทก์ยังคงจะได้ประโยชน์ตอบแทนเช่นเดิม ภายหลังการซื้อขายกับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ก็ไม่สำเร็จอีก ที่สุดเมื่อขายที่ดินให้บริษัททนุก่อสร้างจำกัดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งยอดเงินส่วนแบ่งและค่ารื้อถอนขนย้ายให้บรรดาทายาทรวมทั้งโจทก์ทราบ แต่โจทก์และทายาทบางคนไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไป ผู้จัดการมรดกก็ได้กันเงินกองมรดกหนึ่งล้านบาทให้บริษัททนุก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการจ่ายค่ารื้อถอน นอกจากนั้นยังได้จ่ายเงินส่วนแบ่งให้ทายาทบางคนรับไปหาซื้อที่ดินปลูกบ้านเอาเองบ้างแล้ว ทางบริษัททนุก่อสร้าง จำกัด จัดการจ่ายเงินค่ารื้อถอนให้ทายาทออกไปได้สำเร็จหลายราย คงเหลือโจทก์รายเดียวที่ไม่ยอมออก งบค่ารื้อถอนยังเหลืออยู่ประมาณห้าแสนกว่าบาท นายทนุ กุลเศรษฐศิริประธานกรรมการอำนวยการได้เจรจาติดต่อกับโจทก์ ในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2510 โดยโจทก์ยินยอมออกและได้รับเงินตอบแทนเป็นจำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาท ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.46 ซึ่งนายทนุต้องจ่ายเงินของบริษัทสมทบกับเงินกองมรดกที่เหลือจำนวนดังกล่าว แล้วโจทก์ได้รื้อถอนบ้านออกไป นายทนุได้จ่ายเงินให้โจทก์ไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วรวม 2 งวดด้วยกันเป็นเงินรวมหนึ่งล้านสามแสนบาท

โจทก์นำสืบรับว่า ได้เคยยินยอมให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินแก่พันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ เพราะโจทก์หวังจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนและได้ตกลงกับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ว่า เมื่อซื้อที่ดินไปแล้วจะต้องแบ่งขายให้โจทก์จำนวนหนึ่งไร่ในราคาเท่าที่ซื้อไป ครั้นผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับบริษัททนุก่อสร้าง จำกัด โจทก์ได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้จัดการมรดกซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่า ได้ทำสัญญากันจริง และยังได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ยับยั้งการขายด้วย ชั้นแรกโจทก์ตั้งใจคัดค้าน การที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินให้บริษัททนุก่อสร้าง จำกัด เพราะโจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเหมือนเช่นครั้งจะขายให้พันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ แต่เมื่อโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัททนุก่อสร้าง จำกัดแล้วก็เปลี่ยนใจไม่คัดค้าน ทั้งโจทก์ยอมรับด้วยว่าเงินส่วนแบ่งของหม่อมหลวงปานพี่สาวโจทก์จากการขายที่ดินกองมรดกจะต้องได้แก่โจทก์ เพราะหม่อมหลวงปานไม่มีบุตร

แม้คดีจะไม่มีข้อโต้เถียงกันว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกขายที่ดินไปนั้นชอบด้วยเจตนาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เจ้ามรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย 1 ข้อ 2 หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันเป็นส่วนใหญ่ฟังได้ชัดว่าโจทก์มีส่วนส่งเสริมให้ขายที่ดินตามพินัยกรรมโดยเป็นผู้วิ่งเต้นขอให้รัฐบาลปลดเปลื้องข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมของเจ้ามรดก ในการนี้ทายาทตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1ทั้งโจทก์ยังได้ทำสัญญากับทายาทอื่นเพื่อรับเงินส่วนแบ่งจากการขายที่ดินเป็นพิเศษตามเอกสารหมาย ล.3 นอกจากนี้โจทก์ยังได้ร่วมกับหม่อมหลวงไข่และหม่อมหลวงแฉล้มทายาทคิดจัดทำส่วนแบ่งเงินที่จะได้จากการขายที่ดินอีกด้วย ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อขายที่ดินตามพินัยกรรมได้แล้วผู้จัดการมรดกจะได้เอาเงินที่ขายได้มานั้นแบ่งให้แก่ทายาทไปจัดซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่อาศัยเอาเอง โดยไม่มีความประสงค์ที่จะให้ซื้อที่ดินอื่นมาเป็นกองกลางแทนที่ต่อไป การทำสัญญาจะซื้อขายกับนางเกสนีก็ดี กับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ก็ดี โจทก์ก็เข้าไปมีส่วนได้เสียชักนำเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนนอกเหนือจากเงินส่วนแบ่งที่ควรจะได้แม้กระทงการที่ผู้จัดการมรดกจัดการขายที่ดินให้บริษัททนุก่อสร้างจำกัดไปซึ่งได้ราคาสูงกว่าสองรายแรก โจทก์ก็ทราบดีแต่กลับอ้างว่าไม่เคยให้ความยินยอมแก่การขายเพื่อให้นำเงินไปแบ่งแก่ทายาท จึงได้มาฟ้องคดีนี้ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงขัดแย้งกับหลักฐานที่ทำไว้กับทายาทอื่นว่าเมื่อขายที่ดินได้จะแบ่งเงินกันไปหากโจทก์จะคัดค้านก็ย่อมทำได้ไม่ยาก เพราะโจทก์เคยขออายัดไม่ให้ขายที่ดินแก่พันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่สำหรับการขายแก่บริษัททนุก่อสร้าง จำกัด โจทก์ไม่ขออายัด ซึ่งส่อโดยปริยายว่าโจทก์ไม่ติดใจคัดค้าน ในการขายครั้งนี้โจทก์ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอะไรเป็นส่วนตัวโจทก์จึงได้หาลู่ทางเจรจากับนายทนุ กุลเศรษฐศิริ ประธานกรรมการอำนวยการบริษัท จนได้รับประโยชน์ตอบแทนตามเอกสาร ล.46 แม้เอกสารฉบับนี้จะได้ทำขึ้นภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้วเป็นเวลา 16 วัน(ยื่นฟ้องวันที่ 28 กันยายน 2510) ก็เป็นการแสดงชัดว่า เท่าที่ทายาทอื่นเห็นชอบด้วยกับการขายที่ดินตามพินัยกรรมให้แก่บริษัททนุก่อสร้างจำกัดนั้น โจทก์ยังสงวนท่าทีไม่เห็นชอบด้วย เพราะไม่ได้ชักนำบริษัททนุก่อสร้าง จำกัดให้มาซื้อ และไม่มีโอกาสจะได้ทำข้อตกลงเพื่อเรียกร้องประโยชน์จากผู้ซื้อโจทก์เพิ่งได้โอกาสเจรจากับบริษัทผู้ซื้อในภายหลัง จึงได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นที่พอใจ และก็ได้แสดงเจตนาไว้ในเอกสาร ล.46 ว่ายินยอมและเห็นชอบด้วยกับการซื้อของบริษัททนุก่อสร้างจำกัด เห็นได้ว่าเป็นเพราะโจทก์ถือว่าเป็นผู้วิ่งเต้นขอปลดเปลื้องข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมซึ่งทายาทอื่นตกลงรับรองยกประโยชน์ให้เป็นพิเศษอยู่แล้ว รูปคดีจึงแสดงในตัวว่าโจทก์มิได้คำนึงถึงการที่วงศ์ญาติจะได้มีที่อยู่อาศัยรวมกันดังเจตนาของเจ้ามรดกแต่อย่างใด

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้ว จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการใช้สิทธิของโจทก์เป็นการกระทำโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 หรือไม่

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิทางศาลประกอบไปด้วยพฤติการณ์ต่าง ๆ หลายประการ กล่าวคือร่วมรู้เห็นยินยอมให้ผู้จัดการมรดกขายที่ดินตามพินัยกรรมไปเพื่อนำเงินที่ขายได้มาแบ่งให้แก่ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยเอาเอง โดยโจทก์ยอมรับเอาเงินส่วนแบ่งเช่นเดียวกับทายาทอื่น ทั้งโจทก์เองยังเป็นผู้วิ่งเต้นขอปลดเปลื้องข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมเพื่อรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษจากทายาทนอกเหนือจากส่วนแบ่ง และยังอาศัยเป็นเครื่องมือเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ซื้อซึ่งในที่สุดก็ได้รับผลสมประสงค์ ครั้นแล้วโจทก์กลับมาฟ้องขอให้ห้ามผู้จัดการมรดกแบ่งเงินแก่ทายาท แต่ให้นำเงินไปซื้อที่ดินอื่นแทนพฤติการณ์เช่นนี้มิใช่โจทก์มุ่งสงวนรักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม แต่เป็นการสมยอมเลิกล้มเจตนาเดิมของเจ้ามรดกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เมื่อได้รับผลสมประสงค์แล้ว กลับอาศัยศาลเป็นเครื่องกำบังเพื่อกลั่นแกล้งผู้จัดการมรดกและทายาทอื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วมฟังขึ้น

พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้ใช้แทนรวม 350 บาท

Share