แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านแก่โจทก์ในราคา 2,000,000 บาทแม้ไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐาน แต่โจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงิน 900,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านที่บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง จำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านแก่โจทก์ และโจทก์ชำระหนี้บางส่วนแล้ว โดยไม่ได้กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านไว้แน่นอน การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งกำหนดวันเวลาให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้ และให้รับเงินค่าที่ดินและบ้านส่วนที่เหลือ ณ สำนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ไปตามนัดขอบอกเลิกสัญญา จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่ไม่ไปตามนัดส่วนโจทก์ได้ไปตามนัด และได้เขียนเช็คเพื่อชำระราคาที่ดินที่เหลือไปพร้อมแล้ว เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยผิดนัดผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเลิกกัน คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินและบ้านที่รับไว้พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับไว้จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำที่ดินและบ้านไปขายต่อได้กำไรหากจำเลยไม่ผิดสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะที่ดินและบ้านนั้นราคาสูงขึ้น เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2530 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะผู้รับพินัยกรรมของนางลัดดา เภกะนันทน์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 81351 พร้อมบ้านเลขที่ 99/17 ให้แก่โจทก์ราคา 2,000,000 บาท โจทก์ได้ชำระเงินไปบางส่วนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 เป็นเงิน 600,000 บาท และวันที่20 มีนาคม 2531 เป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยจะโอนที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์โดยปลอดจากการจำนองและภาระผูกพันใด ๆตามวันเวลาที่จะนัดหมายกันในภายหลัง โดยให้โจทก์ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยในวันโอน ต่อมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2531โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์และรับชำระราคาส่วนที่เหลือ แต่จำเลยผัดผ่อนตลอดมาโจทก์แจ้งกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ไปยังจำเลยและให้จำเลยรับชำระราคาที่เหลือจากโจทก์ ในวันที่ 13 กันยายน 2531 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา และถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาให้จำเลยนำเงินที่รับไปจำนวน900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายอีก 500,000 บาทมาชำระให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉยถือว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยพร้อมทั้งค่าเสียหายจำนวน 1,445,924.66 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน1,400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 81351 พร้อมบ้านเลขที่ 99/17 ให้แก่โจทก์ และไม่เคยได้รับเงินจำนวน 900,000บาท จากโจทก์ ที่โจทก์มีหนังสือนัดหมายว่าพร้อมที่จะรับโอนและชำระเงินแก่จำเลยในวันที่ 14 กันยายน 2531 นั้น ที่จริงโจทก์เองไม่ไปตามนัด โฉนดเลขที่ 81351 ยังเป็นชื่อของนางลัดดา เภกะนันทน์ และติดจำนองอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทยทั้งยังไม่เคยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อของจำเลยแต่อย่างใดโจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยยังไม่มีสิทธิที่จะจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ได้ โจทก์จะยอมตกลงซื้อที่ดินซึ่งยังไม่สามารถทำการจดทะเบียนโอนได้อย่างไร เป็นการนำความเท็จมาฟ้องโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกหม่อมราชวงศ์หญิงสมปอง เภกะนันทน์ และนางอาจารี หอมเศรษฐี ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นสามีนางลัดดา เภกะนันทน์ นางลัดดาเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 81351 และบ้านเลขที่ 99/17 หมู่บ้านพฤกษชาติแขวงสะพานสูง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร นางลัดดาถึงแก่ความตายเมื่อปี 2530 นางลัดดาทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางลัดดาโจทก์สั่งจ่ายเช็คให้จำเลยเช็คฉบับแรกลงวันที่ 28 ธันวาคม 2530จำนวนเงิน 600,000 บาท เช็คฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2531จำนวนเงิน 300,000 บาท จำเลยได้รับเงินตามเช็คดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2530 และวันที่ 22 มีนาคม 2531 ตามลำดับมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยขนบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยเป็นค่าซื้อที่ดินและบ้านเป็นการชำระหนี้บางส่วนโดยชำระเป็นเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 รวมเป็นเงิน900,000 บาท จำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าได้รับเช็คดังกล่าวและนำเข้าบัญชีของตนจริง จำเลยอ้างเพิ่มว่าเป็นเช็คที่โจทก์จ่ายชำระหนี้เงินยืมให้แก่จำเลย โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์มากู้เงินจำเลยไปใช้ในการค้าเพชรพลอย โดยมีพันตำรวจโทกวินทร์รับรองการกู้ให้แต่ในคำให้การของจำเลยปฏิเสธว่าไม่เคยรับเงิน900,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2, 3 (เอกสารหมาย จ.4 จ.5) จากโจทก์เป็นค่าซื้อที่ดินแต่อย่างใด โดยไม่ได้ให้การเลยว่ารับเช็ค เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลย และชั้นพิจารณาสืบพยานเมื่อโจทก์นำเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เข้าอ้างเป็นพยานหลักฐาน จำเลยก็ไม่ได้ซักค้านไว้ให้เห็นว่าเป็นเช็คชำระเงินยืมให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์มากู้เงินจำเลยไปใช้ค้าเพชรพลอยโดยมีพันตำรวจโทกวินทร์รับรอง จำเลยก็ไม่ได้นำพันตำรวจโทกวินทร์มาสืบสนับสนุนทั้งการกู้ยืมเงินจำเลยซึ่งจำเลยนำสืบว่าโจทก์กู้ยืมไปครั้งละ200,000-300,000 บาท นั้น นอกจากจะไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือแล้ว จำเลยยังเบิกความรับว่าขณะกู้ยืมไม่ได้ให้โจทก์มอบเช็คชำระหนี้ไว้ในวันนั้นแต่อย่างไรด้วยจึงเห็นได้ว่าการนำสืบของจำเลยที่ว่าเช็คเอกสารหมาย จ.4 จ.5เป็นเช็คชำระหนี้เงินยืมเป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือเช่นนี้พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ในราคา 2,000,000 บาทและแม้ไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐาน แต่โจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงิน 900,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4และ จ.5 จึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านที่บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยผิดสัญญาในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 81351 พร้อมบ้านเลขที่ 99/17 หมู่บ้านพฤกษชาติเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยตกลงขายที่ดินและบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์ชำระหนี้บางส่วนแล้ว โดยไม่ได้กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านไว้แน่นอน การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งกำหนดเวลาให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้และให้รับเงินค่าที่ดินและบ้านส่วนที่เหลือในวันที่ 13 กันยายน 2531เวลา 9 นาฬิกา ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิหากจำเลยไม่ไปตามนัดคำขอบอกเลิกสัญญา และจำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่ไม่ไปตามนัด ตรงข้ามฝ่ายโจทก์ได้ไปตามนัดดังปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.10 และได้เขียนเช็คเพื่อชำระราคาที่ดินที่เหลือไปพร้อมแล้วตามเช็คเอกสารหมาย จ.11 เช่นนี้จึงฟังได้ว่าจำเลยผิดนัดผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงเลิกกัน คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินและบ้าน900,000 บาท ที่รับไว้พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับไว้จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนค่าเสียหาย 500,000 บาทซึ่งโจทก์เรียกจากจำเลยตามหนังสือบอกกล่าวให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านนั้น โจทก์นำสืบว่าหากจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ในช่วงแรกที่บอกกล่าว โจทก์อาจนำไปขายต่อได้กำไรไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เพราะขณะนั้นที่ดินและบ้านนั้นราคาสูงขึ้นซึ่งนางบังอร ดีนิสสัย เจ้าพนักงานที่ดินพยานจำเลยเองก็เบิกความรับรองว่าที่ดินแถวบางกะปิ ซึ่งที่ดินและบ้านดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตมีราคาสูงขึ้นกว่าปี 2530 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโจทก์อาจเรียกเอาได้ เพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222และเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 900,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินจำนวน 600,000 บาทและ 300,000 บาท นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2530 และวันที่22 มีนาคม 2531 ตามลำดับจนกว่าจะชำระเสร็จและชำระค่าเสียหาย20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์