คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1655/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคำพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า ได้มีการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเกิดขึ้นจริงตามฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยอื่นจะมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ถึงจำเลยนั้นด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213,225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมสมคบกันใช้มีดพร้างอ ปืนพกสั้น และมีดปลายแหลมเป็นอาวุธฟัน ยิง และแทงทำร้ายร่างกายนายองอาจ ผิวผาโดยเจตนาฆ่าให้ตาย แต่บาดแผลที่จำเลยทำร้าย ถูกส่วนที่ไม่สำคัญของร่างกายและได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงที นายองอาจจึงไม่ตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผู้เดียวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำเลยที่ 1 มีอายุ 17 ปีลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 ให้จำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้จำคุก 4 เดือนแต่จำเลยที่ 2 ต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว ให้ปล่อยตัวไป

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดด้วย พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83 ให้จำคุก 10 ปี นอกจากนี้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องฐานพยายามฆ่า ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง คงให้รับฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2

ศาลฎีกาเห็นว่า คำผู้เสียหายหรือพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าได้มีการกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเกิดขึ้นจริงตามฟ้องและเมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งถึงแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยทั้งสองพ้นข้อหาไป

Share