คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำผิดหลายกรรม แต่ละกรรมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังนี้ ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยทุกกรรม เรียกกระทงความผิดไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ซึ่งทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐบาล และเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชีของบริษัท มีหน้าที่ควบคุมเอกสารเบิกจ่ายเงินของบริษัทเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๗ เวลากลางวัน จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน คือจำเลยมีหน้าที่ทำ จัดการเบิกจ่ายเงินค่ารางวัลพิเศษตอบแทนการทำงานนอกเวลาให้แก่คนงานตามบัญชีที่ผู้ควบคุมโรงงานขอเบิกมา จำเลยเป็นผู้เขียนใบสั่งจ่ายโดยเขียนจำนวนเงินลงในใบสั่งจ่าย แล้วลงชื่อจำเลยในช่องสมุหบัญชี เสนอให้ผู้จัดการลงชื่อ แล้วนำใบสั่งจ่ายแต่ละฉบับที่ทำขึ้นนั้นไปเบิกเงินจากพนักงานรักษาเงินสดของบริษัทแต่ละวันที่ทำใบสั่งจ่ายขึ้น แล้วรับเงินสดตามใบสั่งจ่ายเอาไปจัดการจ่ายให้แก่ผู้ควบคุมโรงงานเพื่อจ่ายให้แก่คนงานต่อไป ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้บังอาจใช้อำนาจหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยก่อนที่จำเลยจะนำใบสั่งจ่ายเงินแต่ละฉบับซึ่งทำขึ้นนั้นไปเบิกเงิน จำเลยได้บังอาจปลอมแก้ไขเติมข้อความจำนวนเงินในใบสั่งจ่ายแต่ละฉบับรวม ๒๙ ฉบับ คือแก้ไขจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจากที่เขียนไว้ในเอกสารแท้จริง มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๖,๑๙๐.๗๙ บาท เป็นเงิน ๘๖,๐๔๑.๐๕ บาท เมื่อปลอมแก้ไขแล้วจำเลยได้นำไปเบิกรักเงินสดจากพนักงานรักษาเงินสด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าใบสั่งจ่ายทั้ง ๒๙ ฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง แล้วจำเลยได้นำเงินสดที่เบิกมานั้นไปจ่ายให้แก่ผู้ควบคุมโรงงานเฉพาะตามยอดจำนวนเงินที่เขียนสั่งจ่ายไว้เดิมส่วนยอดจำนวนเงินที่ได้เขียนปลอมแก้ไขเพิ่มขึ้นนั้น จำเลยรับเอาเงินนั้นไว้เป็นของจำเลยเอง รวมรับไว้ตามเอกสารใบสั่งจ่ายทั้ง ๒๙ ฉบับ เป็นเงิน ๖๙,๘๕๐.๒๖ บาท อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ผู้อื่นและประชาชน และตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยโดยทุจริตได้บังอาจฉ้อโกงหลอกลวงบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง และนายเยาว์ ลาภกิจ พนักงานรักษาเงินสด ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยใช้อำนาจหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและบังอาจปลอมใบสั่งจ่าย ๒๙ ฉบับดังกล่าวแล้ว ได้นำเอกสารใบสั่งจ่ายปลอม ๒๙ ฉบับซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้น และรู้อยู่แล้วว่าเป็นเอกสารปลอมไปแสดงต่อนายเยาว์ ลาภกิจ เพื่อขอรับเงิน อันเป็นการใช้อุบายหลอกลวงบริษัทและนายเยาว์ ลาภกิจ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิด ความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง นายเยาว์ ลาภกิจ หลงเชื่อว่าใบสั่งจ่ายปลอมทั้ง ๒๙ ฉบับ นั้นเป็นเอกสารที่ถูกต้องและแท้จริง จึงจ่ายเงินของบริษัทจำนวน ๙๖,๐๔๑.๐๕ บาท ให้แก่จำเลยไป ความจริงเงินตามใบสั่งจ่ายที่แท้จริงทั้ง ๒๙ ฉบับ เป็นเงินเพียง ๑๖,๑๙๐.๗๕ บาทเท่านั้น จากการฉ้อโกงดังกล่าว จำเลยได้ไปซึ่งเงินสดจำนวน ๒๙,๘๕๐.๒๖ บาท จากบริษัทเดินเรือไทย จำกัด และนายเยาว์ ลาภกิจ พนักงานรักษาเงินสดของบริษัท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำการแก้ไขปลอมแปลงเอกสารใบสั่งจ่ายทั้ง ๒๙ ฉบับ รวม ๒๗ ครั้ง จึงมีความผิดตามฟ้องเพียง ๒๗ กรรม พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘, ๓๔๑ เป็นความผิดรวม ๒๗ กรรม แต่ละกรรมผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ จำคุกกรรมหรือกระทงละ ๑ ปี รวม ๒๗ ปี กับมีความผิดฐานเป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘ อีกกระทงหนึ่ง จำคุก ๕ ปี รวมจำคุก ๓๒ ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๖ ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๖๙,๘๕๐.๒๖ บาทแก่ผู้เสียหายด้วย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานเป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตทุกกรรม รวม ๒๗ กรรม เรียงกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ นั้น ศาลต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ กระทงหนึ่ง ๒๗ กรรม จำคุกกรมและ ๒ เดือน เป็นจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘ อีกกระทงหนึ่ง ๒๗ กรรม จำคุกกรรมละ ๕ ปี เป็นจำคุก ๑๓๙ ปี ๖ เดือน ลดรับสารภาพให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖๙ ปี ๙ เดือน ที่โจทก์ขอให้จำเลยใช้เงินคืนให้ยกเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจขอ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามฟ้อง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษเพียงกรรมเดียว กระทงเดียว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำผิดของจำเลยแต่ละกรรมทั้ง ๒๗ กรรมนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘ รวม ๒ บท ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ บทหนึ่ง และฐานเป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ทำการเบิกจ่ายเงินโดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘ อีกบทหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดหลายกระทงโดยแยกเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมกับฐานฉ้อโกงกระทงหนึ่ง และฐานเป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐใช้อำนาจในหน้าที่ทำการจัดการเบิกจ่ายเงินโดยทุจริตอีกกระทงหนึ่งดังศาลล่างทั้งสองได้พิพากษามาแล้วไม่ การลงโทษสำหรับการกระทำผิดแต่ละกรรมอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด
ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้สั่งให้จำเลยใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องหาว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงรวมมาด้วย ซึ่งจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ฉะนั้น จำเลยก็ย่อมมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย และศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงนี้ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดฐานฉ้อโกงรวมด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นเพียงกรรมเดียวนั้นเห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยมิใช่เป็นกรณีกรรมเดียวกัน เพราะข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ปลอมและใช้เอกสารปลอม คือใบสั่งจ่ายเงินรวม ๒๙ ฉบับ โดยกระทำการรวม ๒๗ กรรม แต่ละกรรมคนละวันกัน กรณีเช่นนี้จึงเป็นเรื่องกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ดังนั้น การกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรม แต่ละกรรมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๘ ฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และฐานเป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ทำการเบิกจ่ายเงินโดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘ รวม ๒๗ กรรม แต่ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๘ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ โดยลงโทษจำเลยทุกกรรมทั้ง ๒๗ กรรมเรียงกระทงไปตามกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้ลงโทษจำคุกชั้นต่ำกระทงละ ๕ ปี รวมเป็นโทษจำคุก ๑๓๕ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖๗ ปี ๖ เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เงินจำนวน ๖๙,๘๕๐.๒๖ บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

Share