คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยทำสุรา มีเครื่องต้มกลั่นสำหรับทำสุราและมีสุรากลั่นสุราแช่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสุรามาตรา 5, 32 แม้จะไม่บรรยายมาด้วยในคำฟ้องว่าสุรานั้นมีแรงแอลกอฮอล์กี่ดีกรี ดื่มกินได้เช่นน้ำสุรารัฐบาลหรือไม่ ก็เป็นคำฟ้องที่ครบองค์เป็นความผิดลงโทษจำเลยตามคำขอได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2512 เวลากลางวัน จำเลยได้ทำสุราและมีหม้อต้มสุรา 1 หม้อ หม้อปล่อง 1 หม้อ กะทะ 1 ใบท่อต่อรางริน 1 ชุด ตะกร้า 1 ใบ อันเป็นภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราซึ่งมีไว้เพื่อทำสุราและมีสุรากลั่นบรรจุไห 2 ไห กับ 2 ขวด มีปริมาณน้ำสุรา 47 ลิตร สุราแช่ 1 ไห มีน้ำสุรา 2 ลิตร ซึ่งจำเลยทำขึ้นนั้นไว้ในความครอบครอง ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตและโดยจำเลยรู้ว่าเป็นสุราที่ทำขึ้นฝ่าฝืนต่อมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 เหตุเกิดที่ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32, 45; (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 6 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ อ้างว่าทำเพื่อไว้กินเอง ไม่ใช่เพื่อขาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32, 45; (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 6ให้รวมกระทงลดโทษปรับ 1,000 บาท ปรานีลดโทษตามมาตรา 78 ประมวลกฎหมายอาญากึ่งหนึ่ง คงปรับ 500 บาท ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องไม่ครบองค์ความผิด โดยกล่าวแต่ปริมาณของน้ำสุรา ซึ่งโจทก์ไม่ได้วัดน้ำสุรานั้นว่ามีแอลกอฮอล์กี่ดีกรี จำเลยไม่แน่ใจว่าแป้งที่จำเลยใช้หมักและต้มซึ่งซื้อจากคนอื่นมานั้นจะทำเป็นสุราได้จริงหรือไม่ ทั้งเครื่องต้มกลั่นก็เป็นของใช้ประจำครอบครัวเอามาใช้ทำ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องราวกระทงลงโทษ โดยให้ลงโทษ จำเลยตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30; (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกระทงหนัก ปรับ 1,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับ500 บาท ของกลางริบ

จำเลยฎีกาว่าฟ้องไม่ครบองค์ความผิดดังเช่นอุทธรณ์

ศาลฎีกาวินิจฉัยเห็นว่า ในเรื่องนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแล้วว่าจำเลยได้ทำสุราและมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 ซึ่งมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดโทษไว้ กับมีสุรากลั่น สุราแช่ ไว้ในความครอบครองอันเป็นความผิดตามมาตรา 32 อีกฐานหนึ่ง ตามบทท้ายและบทกำหนดโทษดังกล่าว หาได้กำหนดไว้เป็นพิเศษว่าสุราตามความหมายของบทห้ามและบทลงโทษนั้นได้หมายถึงอะไรโดยเฉพาะไม่ ฉะนั้นสิ่งอะไรที่จะถือว่าเป็นสุราจึงต้องดูกันตามความรู้จักของบุคคลโดยทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4 จะได้กล่าวถึงคำว่าสุราให้หมายความรวมไปถึงอะไรไว้ด้วยก็ตาม ก็เป็นแต่การกำหนดเพิ่มเติมลงไปอีกว่า นอกจากเป็นสุรา (ที่รู้จักกันโดยทั่วไปแล้ว) ให้หมายความรวมไปถึงสิ่งอะไรอีกด้วยเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อโจทก์กล่าวบรรยายฟ้องไว้ชัดว่าจำเลยทำสุราโดยไม่รับอนุญาต จำเลยให้การรับตามฟ้องก็เป็นการพอแล้วที่จะฟังว่าจำเลยทำสุราโดยไม่รับอนุญาตอันเป็นการผิดกฎหมายจริง หาใช่จำเป็นต้องพรรณาบอกว่าน้ำสุราที่จำเลยทำมีแรงแอลกอฮอล์กี่ดีกรีนั้นไม่ การที่รู้ดีกรีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแยกประเภทว่าเป็นสุราประเภทใดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินี้ เท่านั้น ส่วนการทำสุราโดยไม่รับอนุญาตจะเป็นสุราประเภทใดก็เป็นความผิดในอัตราเดียวกัน การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงเป็นการสมบูรณ์แล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share