คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้อง ถ. เจ้าของที่พิพาทกับบริษัท ท. เป็นจำเลยอ้างว่า ถ. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้แก่บริษัท ท. แล้วต่อมาบริษัท ท. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับ ถ. ไม่เกิดอำนาจฟ้องบังคับให้ ถ. ส่งมอบที่พิพาทให้แก่โจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์กับ ถ. ซึ่งเป็นคู่ความคดีเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ถ. เป็นคดีนี้โดยอ้างว่า ถ. นำที่พิพาทไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนให้แก่ ส. ทำให้โจทก์เสียหายเนื่องจากโจทก์ได้ทำหนังสือจะซื้อจะขายที่พิพาทจากบริษัท ท. ผู้ซึ่งได้ทำหนังสือจะซื้อจะขายไว้จาก ถ. และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ส. ผู้รับโอนที่พิพาทตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจาก ถ. เป็นคดีนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2033 และ 3311 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทไทยชัชวาลย์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเงิน 20 ล้านบาทเศษ ในสัญญาระบุให้สิทธิแก่ผู้ซื้อทำนิติกรรมขายต่อได้ วันรุ่งขึ้นบริษัทไทยชัชวาลย์ เอ็นจิเนียริ่งจำกัด จึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในราคา 23ล้านบาทเศษ ก่อนโจทก์ทำสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ออกหนังสือรับรองให้ไว้แก่โจทก์ยอมให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าวได้ ต่อมาจำเลยที่ 2ผิดสัญญา โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 และบริษัทไทยชัชวาลย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดให้ส่งมอบที่ดินหรือใช้เงิน จำเลยที่ 2 ได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 61 แปลงโอนขายไปแล้วประมาณ 46 แปลง คงเหลือประมาณ 14 แปลง ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้อายัดไว้ตามคำขอของโจทก์ เมื่อเดือนมีนาคม 2517 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ให้โอนที่ดินทั้ง 15 โฉนดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2หลังจากยื่นฟ้อง 5 วัน จำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 2 ยอมโอนที่ดิน 15 แปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1ศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้วปรากฏตามคดีแดงที่ 8825/2516ของศาลแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทุจริต โจทก์เสียหาย และโจทก์อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 8825/2516 และขอให้ระงับการโอน

จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้หลายประการ และว่าการโอนได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2033และ 3311 วันที่ 8 ธันวาคม 2513 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่บริษัทไทยชัชวาลย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเงิน 20 ล้านบาทเศษ วันที่ 9 ธันวาคม 2513 บริษัทไทยชัชวาลย์ฯ ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวต่อให้แก่โจทก์เป็นเงิน 23 ล้านบาทเศษ วันที่ 10 ธันวาคม 2513จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้เลิกสัญญากับบริษัทไทยชัชวาลย์ฯ ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20 ล้านบาท จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวหลายประการ ต่อมา พ.ศ. 2516 โจทก์ขออายัดที่ดินดังกล่าว 14 แปลง(ที่แบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่เดิม) แล้วฟ้องจำเลยที่ 2กับบริษัทไทยชัชวาลย์ฯ ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือให้ใช้ค่าเสียหายศาลได้พิพากษาแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1731/2521 ในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 8825/2516 อันเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 2 กับบริษัทไทยชัชวาลย์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นจำเลยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้บริษัทไทยชัชวาลย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัทนี้ไดทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาในคดีนั้นได้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 (ในคดีนี้) ไม่เกินอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 (ในคดีนี้) ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้อีก อ้างว่าจำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากโจทก์ได้ทำหนังสือจะซื้อจะขายที่พิพาทจากบริษัทไทยชัชวาลย์ฯ ซึ่งได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายไว้จากจำเลยที่ 2 อีกเป็นคดีนี้ ดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1731/2521ย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความคดีเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก การที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โดยอาศัยสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับบริษัทไทยชัชวาลย์ฯ จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่พิพาทเช่นนี้แล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนที่พิพาทตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยที่ 2 ด้วย

พิพากษายืน

Share