แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องขับไล่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยบรรยายฟ้องว่า หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ฯ โจทก์ เช่นนี้ ถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องได้ตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุลเป็นผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และผู้แทนของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และผู้แทนของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้าหญิงกัลยาณีวัฒนา มีอำนาจดังปรากฏในสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้อง โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารเลข ๔๖ อำเภอปทุมวัน เดิมโจทก์ให้นางสาวยุพา บุนนาคเช่า ต่อมาถึงแก่กรรม โจทก์ให้นางสุพิน เหล่าบุญมีหรือเตติยานนท์เช่าตั้งแต่ ๑ ส.ค. ๙๒ จนบัดนี้จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาได้อยู่ในอาคารโดยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เป็นการขัดสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์กับนางสุพินไม่อาจใช้อาคารนี้ประกอบธุระกิจเป็นโรงเรียนตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าได้ โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว คงเพิกเฉย จึงฟ้องขอให้ขับไล่
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยอยู่ในเคหะโดยเช่าจากพระคลังข้างที่โดยนางสาวยุพาเป็นผู้ลงนามแทน นางสาวยุพาถึงแก่กรรม จำเลยได้ทำหนังสือขอเช่าสืบนางสาวยุพาไปยื่นต่อโจทก์ ๆ รับรองให้เช่าต่อ จำเลยไม่เคยผิดสัญญาเช่า นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ไม่รับว่าโจทก์มีอำนาจโดยชอบและตามฟ้องกล่าวว่า โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ถือกรรมสิทธิ์อาคารรายนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีโดยลำพังไม่ได้ เพราะไม่ใช่เจ้าของ
ศาลแขวงพระนครใต้ฟังว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยโดยชอบจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยอยู่โดยไม่มีอำนาจ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า ฯ พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ฉบับที่ ๓) ม.๖ ให้เพิ่มความต่อท้าย ม.๕ แห่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็น ม. ๕ ทวิ บัญญัติไว้ชัดว่า ให้ระบุชื่อบุคคลผู้ได้รับแต่งตั้งต่อท้ายคำว่า ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ฉะนั้น เมื่อประกาศแต่งตั้งตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามพระราชอัธยาศัยให้หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล มีอำนาจตามใบมอบอำนาจแล้ว คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่า “หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ฯ ” จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยจึงอยู่ในตึกพิพาทโดยไม่มีอำนาจ พิพากษายืน