คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1634/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทายาทโดยธรรมทำสัญญายกทรัพย์มรดกที่ดินที่ตนมีสิทธิรับมรดกให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิรับมรดก แต่สัญญายกให้นั้นไม่มีข้อความแสดงว่าทั้งสองฝ่ายทำสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งเพื่อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันแต่อย่างใด สัญญายกให้นั้นย่อมไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาจำเลยเพียงว่า เอกสาร ล.๑ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันมาว่า เป็นหนังสือยกทรัพย์ให้จำเลย ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อไม่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สมบูรณ์ และไม่มีผลบังคับ และพิพากษาต้องกันมาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง เอกสาร ล.๑ เขียนไว้ดังนี้ “ข้าพเจ้า นายดี ตาจำนงค์ และนางบึ้ง ฯลฯ ขอทำหนังสือมอบที่ดินนา ๑ แปลง ฯลฯ พร้อมด้วยบ้านและที่สวน ฯลฯ ต่อหน้านายสีและนายไทยผู้ใหญ่บ้าน ไว้ดังข้อความต่อไปนี้
๑. ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสิทธิที่จะรับทรัพย์มรดกรายนี้ของนางตอ ฯลฯ โดยข้าพเจ้า เป็นทายาทโดยธรรม (น้องชาย) (พี่สาว)
๒. ข้าพเจ้าาขอแสดงเจตนาในการมอบมรดกรายนี้ของนางคอผู้ตายไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสีทา จันทะพรม ผู้เป็นสามีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯลฯ”
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงว่าโจทก์และนางบึ้งเป็นทายาทโดยธรรม เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางคอยอมมอบทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องยอมยกทรัพย์ดังกล่าวให้จำเลย การที่จำเลยให้โจทก์และนางบึ้งทำเอกสารหมาย ล.๑ ให้จำเลย ก็น่าจะเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกนางคอนั่นเอง ข้อความในเอกสารดังกล่าวมิได้มีข้อแสดงว่าทั้งสองฝ่ายทำสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่ง เพื่อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันแต่อย่างใด ฉะนั้น เอกสาร ล.๑ จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความดังที่จำเลยฎีกา พิพากษายืน

Share