คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี
โจทก์ฟ้องเรียกมรดกโดยฐานเป็นทายาท บรรยายฟ้องว่าที่ไม่ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก 1 ปี เพราะจำเลยมาสู่ขอบุตรสาวโจทก์ โจทก์ยินยอมและตกลงกันว่าเมื่อแต่งงานกันแล้วก็จะได้ใส่ชื่อจำเลยและบุตรสาวโจทก์ โจทก์ถือว่าจำเลยครอบครองมรดกแทนโจทก์และเป็นสัญญากองทุนในการสมรสชอบที่จะบังคับได้ พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นการครอบครองแทนและโจทก์มิได้ฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญา หากฟ้องขอแบ่งมรดก คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านางผัดมีทรัพย์มรดกที่มิได้ทำพินัยกรรมหลายอย่างคือโฉนดที่ดิน 1766 เลขที่ 2240 และที่ 1684 เรือน 1 หลังรวมราคา 60,000 บาท โจทก์เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับนางผัด ขณะนี้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกมีอยู่รวมทั้งโจทก์ 3 รายกับจำเลยผู้เป็นสามีด้วยโจทก์มีสิทธิได้รับ 1 ใน 3

นางผัดเจ้ามรดกเป็นคู่สมรสกับจำเลยก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และไม่มีผู้สืบสันดาน

นางผัดมีชื่อในโฉนดแต่ผู้เดียวที่ดินตามโฉนดดังกล่าวจึงเป็นมรดกโดยมิต้องแบ่งเป็นสินเดิม สินสมรสคือวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติลักษณะออกโฉนดที่ดิน ผู้ใดมีชื่อในโฉนดที่ดินผู้นั้นก็เป็นเจ้าของที่ดิน

ส่วนเรือนหนึ่งหลังเป็นสินเดิมของนางผัด จำเลยกับนางผัดมีสินสมรสถึง 2 เท่าของสินเดิมดังนั้นเรือนที่เป็นสินเดิมตกได้แก่ญาตินางผัดตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย

จำเลยไปขอรับมรดกแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวถือว่าจำเลยเป็นทายาทที่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉล จึงเป็นทายาทที่ต้องจำกัดมิได้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ทรัพย์มรดกรายนี้จึงตกเป็นส่วนของโจทก์ 1 ใน 3 ของทรัพย์สินทั้งหมดเป็นราคาประมาณ 20,000 บาท

ขอให้พิพากษาว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหมายเลข 1766, 2240, 1684 ของจำเลยเป็นโมฆะให้สั่งทำลายการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหมายเลขโฉนดดังกล่าวทั้ง 3 แปลงและพิพากษาว่าจำเลยเป็นทายาทที่ต้องถูกจำกัดมิให้รับมรดกและไม่มีสิทธิรับมรดกรายนี้กับห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ฯลฯ

จำเลยต่อสู้ว่านางผัดเจ้ามรดกเป็นภรรยาจำเลยจริงและได้ตายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2495 โจทก์เป็นญาติกับนางผัดจริงส่วนนา3 โฉนดและเรือนตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางผัดต้องแบ่งสินสมรสให้จำเลยกึ่งหนึ่งก่อนตามกฎหมาย เหลือเท่าใดเป็นมรดกเพราะจำเลยมีสินบริคณห์ 4,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้องเอาทรัพย์สินทั้งหมด

จำเลยผู้เดียวเป็นผู้ออกค่าปลงศพนางผัดเป็นเงิน 20,000 บาทซึ่งยังมิได้หักออกจากกองมรดก จำเลยไม่เคยยักย้ายหรือปิดบังมรดกส่วนใดเลย

อนึ่งจำเลยตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว

หากถือว่ายังมีทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งแก่ทายาทก็ขอศาลหักสินสมรสของจำเลยออกกึ่งหนึ่งก่อน กับหักค่าปลงศพออกอีก 20,000 บาท ออกใช้แก่จำเลย

ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 พิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องอายุความนั้นโจทก์รับในคำฟ้องว่านับแต่เจ้ามรดกตายถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว โดยคำนวณได้ 1 ปีกับ 10 เดือนคดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้ว

ส่วนฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่าโจทก์จำเลยตกลงเรื่องแต่งงานบุตรสาวโจทก์กับจำเลยถือได้ว่าจำเลยครอบครองมรดกแทนโจทก์และเป็นสัญญากองทุนในการสมรสชอบที่จะบังคับได้นั้น พฤติการณ์เช่นนี้ไม่เป็นการครอบครองแทนและโจทก์ก็มิได้ฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่โจทก์ฟ้องเรียกมรดกโดยฐานเป็นทายาทฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share