แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานลักทรัพย์ไม่เป็นเหตุร้ายสำคัญตามความหมายพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27(7)
ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดอาญาในหมู่บ้านของตนได้ และมีอำนาจไปจับผู้ร้ายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุร้ายสำคัญ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่เหตุร้ายสำคัญผู้ใหญ่บ้านจึงไม่มีอำนาจไปจับกุมผู้ร้ายนอกเขตหมู่บ้านของตน เมื่อผู้ใหญ่บ้านไปจับกุมคนร้ายนอกเขตหมู่บ้านของตนก็เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ไม่มีอำนาจจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องว่า นายศรศรีผู้ใหญ่บ้านกับนายหอมและนายเนตรจำเลยไปจับกุมนายศรีล่ามโซ่ไว้ และใช้วาจาขู่เข็ญให้เงิน นายศรีและนายพลอยมีความกลัวจึงส่งมอบเงินให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309, 310, 337, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นลงโทษนายศรศรีและนายเนตรจำเลย ให้ยกฟ้องเฉพาะนายหอมจำเลย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว เรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่านายศรศรีผู้ใหญ่บ้านบ้านพรานกับนายเนตรและนายหอมจำเลย ไปจับกุมนายศรีคนบ้านสิมาควบคุมโดยหาว่านายศรีเป็นคนลักไก่ได้ไปจับนอกเขตหมู่บ้านของนายศรีโดยไม่มีหมายจับตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 27 ข้อ 7 ได้บัญญัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านจะต้องเรียกลูกบ้านของตนออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายเอาของกลางคืนในหมู่บ้านของตนหรือในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ ต่อเมื่อเกิดเหตุจลาจล ฆ่ากันตาย ตีชิง ปล้นทรัพย์ไฟไหม้หรือเหตุร้ายสำคัญ คำว่า เหตุร้ายสำคัญจึงต้องเป็นเหตุร้ายทำนองดังกล่าว ความผิดลักทรัพย์จึงยังไม่เป็นเหตุร้ายสำคัญ ตามความหมายของบทบัญญัติมาตรานี้ ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดอาญาในหมู่บ้านของตนได้และจะมีอำนาจไปจับผู้ร้ายในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุร้ายสำคัญดังกล่าวข้างต้น เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่เหตุร้ายสำคัญนายศรศรีผู้ใหญ่บ้านจึงไม่มีอำนาจจับกุมนายศรีนอกเขตหมู่บ้านของตนการกระทำของนายศรศรีผู้ใหญ่บ้านเป็นการนอกเหนือหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน และไม่มีอำนาจจับกุมนายศรีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การกระทำของนายศรีไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าตามมาตรา 80 นายศรศรีและนายเนตรจำเลยในฐานะราษฎรจึงไม่มีอำนาจจับกุมนายศรีตามมาตรา 79และนายศรศรีผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ และไม่ได้ขอความช่วยเหลือนายเนตรจำเลยเพื่อจัดการตามหมายจับตามมาตรา 82 จึงไม่มีอำนาจจับกุมสำหรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 28 ข้อ 3 ก็บัญญัติเฉพาะกรณีให้ผู้ใหญ่บ้านจับหรือยึดของกลางนำส่งต่อกำนันเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอำนาจการจับกุมผู้ต้องหาอย่างใดการกระทำของนายศรศรีและนายเนตรจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310
ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฎีกาเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
พิพากษายืน