คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระพุทธรูปซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัด จึงอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 37(1) จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาพระพุทธรูปเป็นของตนหรือของจำเลยที่ 2 โดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเอาพระพุทธรูป มีความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วย ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และการยกฟ้องนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ๒ องค์ของวัดป่าพร้าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๕,๓๓๕ ทวิ, ๓๕๗ ,๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ทวิ, ๘๓ จำคุกคนละ ๑๕ ปี มีเหตุบรรเทาโทษสำหรับจำเลยที่ ๒ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ ๒ เจ็ดปี หกเดือน
จำเลยที่ ๒,๓,๔ และ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒,๔ และ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันเอาพระพุทธรูป ๒ องค์ไปจากพระวิหารแล้วเอาพระพุทธรูปเลียนแบบซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สร้างแทนไว้ ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าคนจะเป็นผิดกฎหมายฐานใด และจะลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าพระพุทธรูป ๒ องค์นั้นอยู่ในความดูแลรักษาของนายอาคม พรหมปัญญา ไวยาวัจกรของวัดป่าพร้าว ในเรืองผู้มีห้าที่ดูแลรักษาศาสนสมบัติของวัดนั้น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๗(๑) บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ดังนั้น พระพุทธรูป ๒ องค์ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดป่าพร้าวจึงอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าพร้าว ไวยาวัจกรซึ่งเป็นผู้ที่เจ้าอาวาสแต่งตั้งขึ้นมานั้นมีหน้าที่เพียงทำธุรกิจแทนวัดเท่านั้น ดังนั้น หากนายอาคม เป็นผู้ดูแลรักษาพระพุทธรูป ๒ องค์ดังที่โจทก์บรรยายในฟ้อง ก็เป็นการดูแลรักษาแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษาอยู่ เมื่อจำเลยที่ ๑เป็นผู้ดูแลรักษาพระพุทธรูปดังกล่าว จำเลยที่ ๑ เบียดบังเอาพระพุทธรูปเป็นของตนหรือของจำเลยที่ ๒ โดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ ในการเบียดบังเอาพระพุทธรูปไป จึงมีความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ กระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกด้วย ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ และการยกฟ้องนี้เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ที่มิได้ฎีกาด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าคน

Share