คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้ครอบครองนาพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าอันเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งร่วมกับจำเลยมาหลายปีก็ดี หากจำเลยยอมรับกับโจทก์ว่ายินดีแบ่งนาพิพาทให้โจทก์แล้ว จำเลยก็จะยกอายุความว่าโจทก์มิได้ฟ้องร้องเรียกมรดกเสียภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายไม่ได้ เพราะจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า นายคำมี นางเนียม บิดามารดาโจทก์ มีนาไม่มีโฉนด ๑ แปลง เนื้อที่ ๔๒ ไร่เศษ นายคำมีตายเมื่อ ๓๕ ปีมาแล้ว ที่นาส่วนของนายคำมี ๒๑ ไร่ตกได้แก่นางเนียมและโจทก์คนละ ๗ ไร่ หลังจากนายคำมีตายแล้ว ๓ ปี นางเนียมได้นายปรุงเป็นสามีใหม่เกิดบุตร คือ จำเลยทั้งสอง นางเนียมตายเมื่อ ๕ ปีมานี้ ที่นาส่วนของนางเนียม ๒๘ ไร่ จึงตกแก่โจทก์จำเลยคนละ ๗ ไร่ รวมเป็นของโจทก์ทั้งสอง ๒๘ ไร่ ราคา ๑๑,๐๐๐ บาท หลังจากนางเนียมตาย โจทก์จำเลยปกครองที่นาร่วมกัน มิได้แบ่งเป็นส่วนสัด ครั้นราวเดือนเมษายน ๒๕๐๒ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อกรรมการอำเภอขอรับมรดกเอาที่นาทั้งหมดเป็นของจำเลย โจทก์คัดค้าน อำเภอเรียกจำเลยไปไกล่เกลี่ย จำเลยยอมให้โจทก์เพียงคนละ ๖ ไร่ จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่นามรดกเป็น ๖ ส่วน ให้โจทก์คนละ ๒ ส่วน หากแบ่งไม่ตกลงก็ให้ประมูลขายทอดตลาด เอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การว่า นาพิพาทเดิมเป็นของนายตั้ง ๆยกให้นายปรุง นางเนียม บิดามารดาของจำเลย ต่อมาเมื่อ ๑๒ ปีมานี้ นายปรุงนางเนียมยกนาพิพาทให้จำเลยทั้ง ๆ ครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่านาพิพาทเดิมเป็นของนายตั้ง ๆ ตายตกเป็นของนางเนียมแต่ผู้เดียว เพราะยายคำมีบิดาโจทก์ตายก่อนนายตั้ง โจทก์รับว่าไม่ได้ครอบครองทำนาพิพาทมานานกว่า ๑๐ ปี และขอแบ่งนาพิพาทจากจำเลยภายหลังนางเนียมตายถึง ๔ ปี คดีโจทก์ขาดอายุความไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้โจทก์มิได้ครอบครองนาพิพาทเกินคนละ ๑๐ ปี และฟ้องคดีภายหลังนางเนียมตายถึง ๔ ปีก็ดี แต่ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำของโจทก์จำเลยและนายปรุงที่ให้ถ้อยคำไว้ต่อกรรมการอำเภอว่า โจทก์จำเลยกับนายปรุงยอมรับว่านาพิพาทเป็นของนายคำมีนางเนียมบิดามารดาโจทก์มาก่อน จำเลยแบ่งให้โจทก์ แต่ขอให้นายปรุงเป็นผู้จัดการแบ่งเพราะอยู่ในขณะทำมาหากิน เมื่อเสร็จแล้วมีเวลาจึงจะแบ่งให้ เอกสารนี้ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง ดังนั้น จำเลยจึงยกอายุความมรดกยันโจทก์ไม่ได้ เพราะจำเลยยอมสละสิทธิที่จะใช้อายุความมรดกแก่จำเลยเสียแล้ว จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้แบ่งนาพิพาทให้โจทก์คนละ ๑ ใน ๓ ส่วนของครึ่งหนึ่งของนาพิพาทเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้แบ่งนาพิพาทให้แก่โจทก์อีกคนละ ๑ ใน ๔ ส่วนของจำนวนเนื้อที่ ๆ เป็นมรดกของนางเนียมอีกชั้นหนึ่ง หากแบ่งไม่ตกลงให้ประมูลแบ่งกันตามส่วนดังกล่าว
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนำเอกสารบันทึกของกรมการอำเภอประกอบกับพยานโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านาพิพาทเป็นของนายคำมี นางเนียม บิดามารดาของโจทก์ มีปัญหาว่าเมื่อนางเนียมตายแล้วโจทก์ได้เข้าครอบครองนาพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์แยกไปทำนาของพ่อตาแม่ยายโจทก์ทั้งสองตั้งแต่ก่อนนางเนียมตาย ไม่ได้กลับเข้ามาทำนาพิพาทอีก แต่จำเลยได้ยอมรับกันโจทก์ว่า ยินดีแบ่งนาพิพาทให้โจทก์ เพราะพี่นานี้เป็นของบิดามารดาโจทก์ ดังปรากฏตามบันทึกคณะกรรมการอำเภอที่กล่าวแล้ว ฉะนั้น จำเลยจึงยกอายุความว่าโจทก์มิได้ฟ้องเรียกมรดกเสียภายใน ๑ ปี นับแต่นางเนียมตายขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เพราะจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๒
ฯลฯ
พิพากษายืน

Share