คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16066/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือ ช. บรรทุกน้ำมันที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำไปจำหน่ายเฉพาะในบริเวณเขตต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้ประกาศใช้ความกว้างของทะเลอาณาเขตเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล และได้มีการประกาศเขตต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้าง 24 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองขณะที่เรือ ช. ถ่ายน้ำมันให้แก่เรือ ป.ไทยประดิษฐ์ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวอยู่ภายใต้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องเส้นฐานตรงและน่านน้ำของประเทศไทยบริเวณที่สี่ จึงอยู่ในน่านน้ำภายใน เพราะทะเลที่เป็นส่วนต่อจากน่านน้ำภายในคือทะเลอาณาเขตที่มีความกว้าง 12 ไมล์ทะเล เมื่อสุดระยะของทะเลอาณาเขตจึงเป็นบริเวณของเขตต่อเนื่อง
เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายเรือ มีอำนาจควบคุมเรือ ช. ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายน้ำมันดีเซลดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นรองต้นกลเรือ เป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งขณะถ่ายน้ำมันลงเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ต้องมีการเดินเครื่องยนต์ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นหรือได้รับคืนภาษีแล้วตามหมวด 7 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 162 (2)
แม้เรือ ช. จะได้รับน้ำมันดีเซลโดยชอบ เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่อง แต่จากพฤติการณ์แสดงว่าการมีน้ำมันจำนวนดังกล่าวมุ่งประสงค์ในการนำเข้ามาจำหน่ายโดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 63) ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 การมีน้ำมันในเรือ ช. จึงเป็นการมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรองต้นกลเรือ มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องยนต์เรือ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมในการมีน้ำมันดีเซลไว้เพื่อขาย จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีน้ำมันดังกล่าวไว้เพื่อขายโดยไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161, 162, 168 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบเรือบรรทุกน้ำมันพร้อมเครื่องยนต์ของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 (2), 162 (2) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีแล้ว ให้ปรับจำเลยทั้งสอง (ที่ถูก ปรับคนละ) 5,478,205.20 บาท ฐานจำหน่ายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบ (ที่ถูก ฐานขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพมิต) ให้ปรับจำเลยทั้งสอง (ที่ถูก ปรับคนละ 32,842.68 บาท) รวมปรับจำเลยทั้งสอง (ที่ถูก รวมปรับคนละ 5,511,047.88 บาท) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 2 ปี (ที่ถูก โดยให้กักขังเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี) ริบเรือบรรทุกน้ำมันและเครื่องยนต์ของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไว้เพื่อขายตามมาตรา 162 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ5,478,205.20 บาท เมื่อรวมกับค่าปรับในความผิดฐานขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตแล้ว คงปรับคนละ 5,511,047.88 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า เรือโชคปัตตานี 1 ได้บรรทุกน้ำมันที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำไปจำหน่ายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรหรือเรียกว่าน้ำมันเขียว ซึ่งจะจำหน่ายได้เพียงในบริเวณเขตต่อเนื่อง ซึ่งทะเลที่เป็นเขตต่อเนื่องหมายถึงทะเลที่ต่อไปจากทะเลอาณาเขตดังปรากฏตามประกาศเรื่อง ใช้อนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเลในส่วนทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้ประกาศใช้ความกว้างของทะเลอาณาเขตเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2509 ตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตของประเทศไทย และได้มีการประกาศเขตต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย มีความกว้าง 24 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ปรากฏตามประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ที่ประเทศไทยย่อมมีสิทธิอธิปไตยตามที่กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลให้ไว้ ได้ความว่าจุดที่เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองขณะที่เรือโชคปัตตานี 1 ถ่ายน้ำมันให้แก่เรือ ป.ไทยประดิษฐ์ อยู่ที่บริเวณตำบลที่ ละติจูด 7 องศา 20 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด101 องศา 53 ลิปดาตะวันออก แต่บริเวณดังกล่าวอยู่ภายใต้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องเส้นฐานตรงและน่านน้ำของประเทศไทยบริเวณที่สี่ ที่กำหนดเส้นฐาน จุดที่ 1 จากเกาะกงออก ละติจูด 9 องศา 36 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 05 ลิปดาตะวันออกจุดที่ 2 จากเกาะกระ ละติจูด 8 องศา 23 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 44 ลิปดาตะวันออก จุดที่ 3 เกาะโลซิน ละติจูด 7 องศา 19 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 59 ลิปดาตะวันออก และจุดที่ 4 พรมแดนไทย – มาเลเซีย ละติจูด 6 องศา14 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 102 องศา 05 ลิปดาตะวันออก ทำให้น่านน้ำภายในเส้นฐานเป็นน่านน้ำภายในที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหนือน่านน้ำดังกล่าว จุดที่ เจ้าพนักงานจับเป็นบริเวณที่เรือโชคปัตตานี 1 ถ่ายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือ ป.ไทยประดิษฐ์จึงอยู่ในน่านน้ำภายใน ดังปรากฏตามหนังสือกรมอุทกศาสตร์ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 เรื่องการตรวจสอบค่าพิกัด จุดที่เจ้าพนักงานจับจำเลยจึงห่างจากทะเลที่เป็นเขตต่อเนื่องถึงกว่า 12 ไมล์ทะเล เพราะทะเลที่เป็นส่วนต่อจากน่านน้ำภายในคือทะเลอาณาเขตที่มีความกว้าง 12 ไมล์ทะเล เมื่อสุดระยะของทะเลอาณาเขตจึงเป็นบริเวณของเขตต่อเนื่อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้จอดเรือในบริเวณที่สามารถถ่ายน้ำมันดีเซลได้ แต่เนื่องจากกระแสน้ำแรง และใช้เวลาถ่ายน้ำมันถึง 20 นาที ทำให้เรือไหลไป 3 ถึง 4 ไมล์ทะเล จึงพลัดหลงเข้ามาในน่านน้ำภายในอันเป็นจุดที่ถูกจับกุม จึงไม่อาจอ้างให้พ้นความผิดไปได้ เพราะแม้เรือจะไม่ไหลดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง จากจุดที่ถูกจับบริเวณตำบล ละติจูด 7 องศา 20 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 53 ลิปดาตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะโลซินที่ถูกกำหนดเป็นเส้นฐานตรงที่ตำบล ละติจูด 7 องศา 19 ลิปดาเหนือลองจิจูด 101 องศา 59 ลิปดาตะวันออก จากบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นฐานตรงตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทยบริเวณที่เป็นระยะ 12 ไมล์ จึงจะเป็นเขตต่อเนื่องที่ใช้จำหน่ายน้ำมันดีเซลได้ตามประกาศกระทรวงการคลัง ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างหลักมนุษยธรรมว่าขณะเกิดเหตุได้รับแจ้งทางวิทยุจากเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ว่ามีน้ำมันเพียง 1,000 ลิตร ก็ปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานเข้าจับกุมมีการจำหน่ายไปแล้ว 2,276 ลิตร แต่เรือ ป.ไทยประดิษฐ์มีน้ำมันทั้งสิ้น 5,476 ลิตร ปรากฏตามแผนผังห้องเครื่องและปริมาณน้ำมัน ที่นายพิทยา ต้นกลเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ยอมรับรับไว้ แสดงว่าเรือ ป.ไทยประดิษฐ์หาได้มีความจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือเพราะน้ำมันใกล้หมดแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขณะเกิดเหตุทะเลมีคลื่นลมแรงหากไม่เติมน้ำมันให้จะทำให้เรือ ป.ไทยประดิษฐ์ได้รับอันตราย โดยอ้างข่าวพยากรณ์อากาศของหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 10 ถึงฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 ว่าทะเลมีคลื่นสูงและอ้างพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ว่า ทะเลบริเวณจังหวัดสงขลามีคลื่นสูง 2 เมตร แต่การพยากรณ์ดังกล่าวเป็นการคาดหมายเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ดังที่คาดหมายพยากรณ์ เพื่อให้ผู้เดินเรือใช้ความระมัดระวัง หรืออาจไม่เกิดเหตุการณ์ตามที่คาดหมายพยากรณ์ก็ได้ ได้ความจากคำเบิกความของนายดีเสมอ ซึ่งเป็นนายเรือของเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าขณะนำเรือไปเติมน้ำมันจากเรือโชคปัตตานี 1 ในขณะจับุกมนั้นสภาวะอากาศปกติ ซึ่งตรงกับคำเบิกความของพันตำรวจตรีราม พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยว่า ขณะจับกุมท้องฟ้าแจ่มใส ทะเลเรียบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าขณะที่มีการถ่ายน้ำมันจากเรือโชคปัตตานี 1 ไปยังเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ อากาศแจ่มใส ทะเลเรียบ เรือ ป.ไทยประดิษฐ์ยังมีน้ำมันมากพอ แต่ได้เติมน้ำมันที่จุดเกิดเหตุอยู่ในน่านน้ำภายในของประเทศไทย และห่างจากเขตต่อเนื่องกว่า 12 ไมล์ทะเล กรณีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง เมื่อจำเลยที่ 1ผู้เป็นนายเรือ มีอำนาจควบคุมเรือโชคปัตตานี 1 ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายน้ำมันดีเซลดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นรองต้นกลเรือ เป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งขณะถ่ายน้ำมันลงเรือป.ไทยประดิษฐ์ต้องมีการเดินเครื่องยนต์ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นหรือได้รับคืนภาษีแล้วตามหมวด 7 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต มาตรา 162 (2)
ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นหรือได้รับคืนภาษีแล้วตามหมวด 7 หรือไม่ เห็นว่า แม้เรือโชคปัตตานี 1 จะได้รับน้ำมันดีเซลโดยชอบ เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่อง แต่จากพฤติการณ์ของข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจพิษณุ ว่า ได้ตรวจพิกัดเรือแล้ว ได้ความว่าวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 เรือพรวัฒนา 2 ไปเติมน้ำมันจากคลังน้ำมันพีทีไอ จังหวัดระยอง จากนั้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 ได้มีการถ่ายน้ำมันจากเรือพรวัฒนา 2 ไปยังเรือพรวัฒนา 3 ที่ตำบลละติจูด 11 องศา 40 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 102 องศา 00 ลิปดาตะวันออกในวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 เรือพรวัฒนา 3 ได้ถ่ายน้ำมันจำนวน 400,000 ลิตรให้แก่เรือโชคปัตตานี 1 ณ ตำบลละติจูด 9 องศา 00 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 40 ลิปดาตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณเขตต่อเนื่องทางทิศตะวันตกของปากน้ำสิชล ระยะ44 ไมล์ทะเล นอกฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ปรากฏตามหนังสือกรมอุทกศาสตร์(ศาลอาญา) และภาพแผนที่ท้ายเอกสารดังกล่าวซึ่งแสดงเส้นทางเดินเรือของเรือโชคปัตตานี 1 หลังจากได้รับน้ำมันจากเรือพรวัฒนา 3 ในเขตต่อเนื่องแล้ว ได้แล่นจากเขตต่อเนื่องตัดผ่านทะเลอาณาเขตเข้าสู่ทะเลบริเวณน่านน้ำภายในของประเทศไทยที่ใกล้หมู่เกาะโลซิน ซึ่งเป็นบริเวณทะเลกว้าง และสะดวกต่อเรือจากฝั่งจะแล่นไปเติมน้ำมันยังบริเวณดังกล่าว จำเลยที่ 1 รับว่าเรือโชคปัตตานี 1 มีอุปกรณ์เดินเรือครบ จำเลยที่ 1 สามารถอ่านแผนที่ ดูดาวเทียม ดูเรดาร์ได้ และมีประสบการณ์ขับเรือ 10 ปี เคยเดินเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศมาก่อน รู้ว่าทะเลส่วนใดเป็นน่านน้ำภายใน ส่วนใดเป็นทะเลอาณาเขต พฤติการณ์ที่ปรากฏจากเส้นทางการเดินเรือไม่แสดงว่าเรือโชคปัตตานี 1 จะแล่นออกไปยังทะเลที่เป็นเขตต่อเนื่อง แต่เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายเรือว่าจะนำเรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องแล่นตัดทะเลกว่า12 ไมล์ทะเล ย้อนเข้ามาในน่านน้ำภายใน ได้ความจากคำเบิกความของพลตำรวจตรีสุรพล ว่า การจำหน่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องได้กำไร 50 สตางค์ต่อลิตร แต่การจำหน่ายในน่านน้ำภายในได้กำไร 1 บาทต่อลิตร จึงแสดงว่าการมีน้ำมันจำนวนดังกล่าวมุ่งประสงค์ในการนำเข้ามาจำหน่ายโดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว การมีน้ำมันในเรือโชคปัตตานี 1 จึงเป็นการมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรองต้นกลเรือ มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องยนต์เรือ ไม่มีส่วนในการควบคุมบังคับหรือเดินเรือซึ่งเป็นส่วนงานของไต้ก๋งนายเรือ ต้นเรือ หรือต้นหน คงมีหน้าที่ควบคุมเครื่องยนต์เรือในส่วนที่เป็นหน้าที่ของต้นกล รองต้นกลหรือนายช่างกลเรือเท่านั้น และยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมในการมีน้ำมันดีเซลตามฟ้องไว้เพื่อขาย จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีน้ำมันดังกล่าวไว้เพื่อขายโดยไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุลงโทษสถานเบาหรือไม่นั้นเห็นว่า ในความผิดฐานขายและมีไว้เพื่อขายตามมาตรา 162 (2) ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตได้กำหนดให้ลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ห้าเท่าถึงสิบห้าเท่าของค่าภาษีที่จะต้องเสีย แต่ไม่ต่ำกว่าสองร้อยบาท จำเลยที่ 1 มีน้ำมันดีเซลเพื่อขายโดยไม่ชอบ จำนวน 379,640 ลิตร ต้องเสียภาษีลิตรละ 2.405 บาท รวมเป็นเงิน 913,034.20 บาท ศาลล่างทั้งสองวางโทษปรับ 5,478,205.20 บาท หรือเท่ากับ 6 เท่าของค่าภาษีที่ต้องเสีย และจำเลยทั้งสองร่วมกันขายน้ำมันดีเซลไปจำนวน 2,276 ลิตร ต้องเสียภาษีลิตรละ 2.405 บาท รวมเป็นเงิน 5,473.78 บาท ศาลล่างทั้งสองวางโทษปรับ 32,842.68 บาท หรือเท่ากับ 6 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องเสีย เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดเพียงฐานขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ให้ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 32,842.68 บาท เท่านั้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหามีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share