คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยโอนขายที่ดินแก่โจทก์ตามที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้โดยบรรยายฟ้องมีความว่าโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกัน จำเลยต้องการเงินไปใช้ก่อนโจทก์จึงมอบเงินให้จำเลยไป 700 บาท อีก 100 บาทจะชำระกันเมื่อทำโอนจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นเงิน 800 บาท ต่อมาจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ๆ จึงฟ้องและได้แนบสำเนาสัญญากู้มาท้ายฟ้องด้วย ดังนี้แม้เดิมจะไ้ดมีการตกลงซื้อขายที่ดินหรือไม่ก็ดีแต่ที่กล่าวในฟ้องว่าได้ตกลงทำสัญญากู้กันประกอบด้วยตัว สัญญากู้เอง เห็นได้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องตกลงจะซื้อขายที่ดินกัน ฉะนั้นจึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรื่องซื้อขายที่ดินอ้างสัญญากู้มาเป็นหลักฐาน ซึ่งมีข้อความชัดเจนเป็นเรื่องสัญญากู้เงินไว้ชัดแจ้งแล้วเช่นนี้ โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินโดยอาศัยสัญญากู้หาได้ไม่ เพราะฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องขัดกันอยู่ศาลจะบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีความว่าเมื่อเดือน ๑๐ ปีกลายนี้ (พ.ศ.๒๔๙๑) จำเลยที่ ๑ ได้บอกขายที่ดินแปลงนี้ให้โจทก์เป็นเงิน ๘๐๐ บาท นัดว่าเดือน ๔ จะขอใบแทนโฉนดและโอนโฉนดให้จำเลยที่ ๑ ต้องการเงินไปใช้ก่อน โจทก์ตกลงรับซื้อและให้เงินจำเลยที่ ๑ ไป ๗๐๐ บาท อีก ๑๐๐ บาทจะชำระให้เมื่อทำการโอนกันจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากู้เงินกันให้ยึดถือไว้เป็นเงิน ๘๐๐ บาท ดังสำเนาท้ายฟ้องถึงเดือน ๔ โจทก์ไปเตือนจำเลยที่ ๑ ขอผัดผ่อน พอถึงเดือน ๖ โจทก์ไปเตือนอีก จำเลยที่ ๑ กลับว่าได้ขายที่ดินแก่จำเลยที่ ๒-๓ ไปแล้วเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนี้ ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ ๑ แล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนขายให้โจทก์ในราคา ๘๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงขายที่ดินให้แก่โจทก์เป็นแต่จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไปและได้ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ตามสำเนาท้ายฟ้อง การซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑-๒-๓ เป็นไปโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีแต่สัญญากู้ จะนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ชอบ ต้องห้ามจึงพิพาษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้พิจารณาคำฟ้องประกอบเอกสารสัญญากู้เงินท้ายฟ้องแล้วเห็นว่าแม้เดิมจะได้มีการตกลงจะซื้อขายที่ดิน ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ดังโจทก์กล่าวในคำฟ้องหรือไม่ก็ดี แต่การที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงทำสัญญากู้กันประกอบกับตัวสัญญากู้เอง เห็นได้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะตกลงซื้อขายที่ดินให้แก่กัน เงินที่ให้กันมีเพียง ๗๐๐ บาท แต่ในหนังสือสัญญากลับปรากฎว่ากู้กัน ๘๐๐ บาท และยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ ๑ ได้ให้โจทก์ยึดถือที่ดินที่มีโฉนดแล้วไว้เป็นประกันเงินกู้อีกด้วย โจทก์ฟ้องเรื่องซื้อขายที่ดินอ้างสัญญากู้มาเป็นหลักฐาน ซึ่งมีข้อความชัดเจนเป็นเรื่องสัญญากู้เงินชัดแจ้งเช่นนี้ โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดิน โดยอาสัยสัญญากู้หาได้ไม่เพราะฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องขัดกันอยู่ ศาลจะบังคับให้ตามคำของโจทก์ไม่ได้
จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share