คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความได้สิทธิที่จะนำมาใช้แก่การจำยอม โดยอนุโลมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 นั้น ได้แก่อายุความตามมาตรา 1382 มาตรานี้กำหนดอายุความไว้ 10 ปี โดยไม่แยกว่าจะเป็นที่ดินมือเปล่าหรือที่ดินมีโฉนด ส่วนอายุความตามมาตรา 1375 นั้น หาใช่อายุความได้สิทธิไม่
คำว่าที่ดินสูง ที่ดินต่ำตามมาตรา 1339, 1340 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หมายถึงที่ดินสูงต่ำตามธรรมชาติ เจ้าของที่ดินต่ำหาจำต้องรับน้ำจากที่ดินที่ถมให้สูงขึ้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ๒ ข้อว่า
๑. กำหนด ๑ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ เป็นอายุความการได้สิทธิสำหรับที่ดินมือเปล่า ฉะนั้นตามมาตรา ๑๔๐๑ ที่โยงมาให้ใช้ลักษณะ ๓ โดยอนุโลม ก็ย่อมต้องใช้อายุความการได้สิทธิตามมาตรา ๑๓๗๕ ด้วย ภาระจำยอมในที่ดินมือเปล่าจึงได้มาโดยอายุความ ๑ ปี
๒. จำเลยเจ้าของที่ดินต่ำถมที่ดินของตนให้สูงขึ้น ทำให้น้ำไหลธรรมดาจากที่ดินของโจทก์ย้อนเข้าไปในที่ดินของโจทก์เกิดน้ำเน่าและปฏิกูล ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิด
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๓ มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่งติดถนนใหญ่ ได้ปลูกห้องแถวตามริมถนนให้เช่า ต่อมาได้ขายห้องแถวกับที่ดินเป็นห้อง ๆ ให้บุคคลอื่นไม่ถึง ๕ ปี ผู้ซื้อมีนางทุมมา โจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๓ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ด้วย ส่วนของนางทุมมา ๆ โอนให้โจทก์ที่ ๑ ที่พิพาทอยู่หลังห้องของโจทก์จำเลย ผู้ซื้อ มีลักษณะเป็นตรอกทางเดินและว่างอยู่ เมื่อจำเลยที่ ๓ ปลูกห้องแถวให้เช่านั้น ได้ถมที่ดินปลูกห้องแถวให้สูงขึ้น น้ำฝนที่ตกในบริเวณห้องแถวได้ไหลมายังตรอกที่พิพาทซึ่งต่ำกว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ แบ่งห้องแถวขายให้โจทก์และจำเลย ได้ขายตรอกที่พิพาทนี้ให้จำเลยที่ ๑ ๆ จึงถมพื้นดินที่ตรอกนี้เสีย น้ำฝนที่ตกในห้องของโจทก์จึงไหลออกมายังตรอกตามเดิมไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ขุดดินที่ถมตรอกที่พิพาทและรื้อรั้วที่ปิดกั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อายุความได้สิทธิที่จะอนุโลมใช้ในเรื่องการได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้นคือ มาตรา ๑๓๘๒ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินนั้นมีโฉนดหรือเป็นที่มือเปล่า โจทก์จึงยังไม่ได้การจำยอมในเรื่องทางเดิน และทางระบายน้ำ และคำว่า น้ำ ในมาตรา ๑๓๓๙ หมายถึงน้ำตามธรรมดาตามธรรมชาติทั่วไป ไม่หมายถึงน้ำที่ใช้แล้ว น้ำเน่า น้ำโสโครก และต้องเป็นน้ำที่ไหลตามธรรมดาจากที่ดินสูง ไม่ใช้น้ำฝนไหลจากขายค่าบ้านแล้วต่อท่อมาดังที่โจทก์นำสืบ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กำหนด ๑ ปีตามมาตรา ๑๓๗๕ นั้น ไม่ใช่อายุความ หากแต่เป็นกำหนดเวลาฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครอง นำมาใช้ตามมาตรา ๑๔๐๑ ไม่ได้ และตามมาตรา ๑๓๓๙ หมายความแต่เพียงว่า การที่น้ำไหลตามธรรมดามาสู่ที่ดินต่ำนั้น เจ้าของที่ดินต่ำจำต้องยอมรับ จะว่ากล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ มิได้หมายความว่าเป็นการตัดสิทธิเจ้าของที่ดินต่ำจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ดินของตนตามสิทธิอันชอบธรรมมิได้เลย พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
๑. อายุความได้สิทธิในลักษณะ ๓ แห่งบรรพ ๔ ที่จะนำมาใช้แก่ภาระจำยอมโดยอนุโลมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๐๑ นั้น ต้องนำอายุความเรื่องครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นเหตุให้ได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ มาใช้ มาตรานี้กำหนดอายุความไว้ ๑๐ ปี โดยไม่แยกว่าจะเป็นที่ดินมือเปล่าหรือที่ดินมีโฉนด ศาลฎีกาได้นำมาตรา ๑๓๘๒ มาใช้แก่เรื่องภาระจำยอมหลายเรื่องแล้ว ส่วนอายุความตามมาตรา ๑๓๗๕ นั้น เป็นอายุความฟ้องคดี หาใช่อายุความได้สิทธิไม่ เอามาอนุโลมใช้ไม่ได้
๒. คำว่า ที่ดินสูงที่ดินต่ำ ตามมาตรา ๑๓๓๙, ๑๓๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หมายถึงที่ดินสูงต่ำตามธรรมชาติ ตรอกพิพาทนี้ไม่ใช่ที่ดินต่ำตามธรรมชาติหากเป็นเพราะเจ้าของเดิมถมดินบริเวณห้องแถวให้สูงขึ้นเอง เมื่อแยกเจ้าของแล้ว เจ้าของที่ดินตรอกที่พิพาทจำต้องรับน้ำจากที่ดินที่ถมขึ้นให้สูงไม่ กรณีเช่นนี้มิใช่ข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงฟ้องให้บังคับขุดที่ดินของจำเลยให้ต่ำลงเพื่อรับน้ำไหลจากที่ดินของโจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน

Share