แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาในชั้นบังคับคดีว่า โจทก์มีสิทธิรื้อรั้วในที่พิพาทเพื่อใช้เป็นทางจำเป็นได้ตามคำพิพากษาเดิม ถ้าไม่ให้โจทก์มีสิทธิรื้อรั้วคำพิพากษาของศาลฎีกาก็ย่อมไม่มีความหมายบังคับอะไรไม่ได้เพราะมีรั้วกำแพงคอนกรีตซึ่งจำเลยที่ 2 ก่อสร้างปิดขวางอยู่ คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารกระทำการขัดขวางจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ให้จำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินบางส่วน ที่จำเลยที่ 1 จัดการให้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ถึงทางสาธารณะนั้นย่อมมาจากคำบรรยายฟ้องในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ก่อสร้างกำแพงปิดกั้นการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่เกินกว่าคำพิพากษาเดิมและไม่เกินคำของโจทก์
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เปิดทางจากที่ดินของโจทก์ถึงทางสาธารณะ ห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องขัดขวางชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รื้อรั้วซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางทางจำเป็นออก หากไม่รื้อก็ให้โจทก์รื้อเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องรื้อรั้ว แต่โจทก์มีสิทธิรื้อรั้วโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกามาเพียงประเด็นเดียวว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ทำการรื้อกำแพงรั้วของจำเลยที่ 2 ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาในชั้นบังคับคดี เป็นการวินิจฉัยที่เกินกว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาและเกินคำขอของโจทก์ด้วย จึงไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาในชั้นบังคับคดีถูกต้องหรือไม่เห็นว่าความตอนนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รื้อรั้วหากไม่รื้อก็ให้โจทก์รื้อโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะศาลหาได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รื้อรั้วไม่และไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อรั้วเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ในเมื่อโจทก์เองอาจเป็นฝ่ายที่จะต้องเสียค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการรื้อรั้วให้แก่จำเลยที่ 2 แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เปิดทางในที่พิพาท และจำเลยที่ 1 ก็ยอมให้โจทก์สร้างถนนในที่พิพาทได้โดยจำเลยที่ 2 และบริวารมิได้เกี่ยวข้องขัดขวางประการใด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิรื้อรั้วสร้างถนนในที่พิพาทเพื่อใช้เป็นทางจำเป็นได้ตามคำพิพากษา เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงฎีกาขึ้นมาเกี่ยวแก่ข้อความที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิรื้อรั้วได้ การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจดูคำฟ้องและการนำสืบของโจทก์เป็นหลัก ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 2 และบริวารกระทำการขัดขวางโจทก์ไม่ให้ใช้ที่ดินบางส่วนตามแผนที่ท้ายฟ้องเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ และยังทำการก่อสร้างกำแพงปิดกั้น โจทก์ไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 2 และบริวารหยุดการละเมิดต่อโจทก์ ไม่ขัดขวางโจทก์ในการใช้ทางดังกล่าว จึงขอให้บังคับโดยห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารกระทำการขัดขวางจำเลยที่ 1 และโจทก์ และไม่ให้จำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินบางส่วนที่จำเลยที่ 1 จัดการให้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ถึงทางสาธารณะ ส่วนการนำสืบของพยานโจทก์นั้น นายมนู วรรณพานิช ตัวโจทก์เบิกความว่า หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินแล้วประมาณ 3 เดือน จำเลยที่ 2 เอาสังกะสีตีปิดกั้น ขณะนี้ได้ก่อเป็นกำแพงคอนกรีตปิดกั้น เข้าออกไม่ได้ที่ของโจทก์ออกทางอื่นไม่ได้ ฝ่ายจำเลยที่ 2 มิได้ให้การถึงเรื่องการปิดกั้นดังกล่าว ตลอดจนมิได้นำพยานเข้าสืบแก้ในเรื่องปิดกั้นเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างกำแพงรั้วปิดกั้นจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาในชั้นบังคับคดีว่า โจทก์มีสิทธิรื้อรั้วในที่พิพาทเพื่อใช้เป็นทางจำเป็นได้ตามคำพิพากษา ก็ย่อมหมายความว่าถ้าไม่ให้โจทก์มีสิทธิรื้อรั้วแล้วคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งเป็นอันถึงที่สุดแล้วก็ย่อมไม่มีความหมาย จะบังคับอะไรไม่ได้เลย เพราะยังมีรั้วกำแพงคอนกรีตซึ่งจำเลยที่ 2 ปิดกั้นขวางอยู่ ที่ดินของโจทก์ก็คงยังตกอยู่ในที่ล้อมอย่างเดิมนั่นเอง ดังนั้นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ห้ามจำเลยที่ 2 และบริวารกระทำการขัดขวางจำเลยที่ 1 และโจทก์ ไม่ให้จำเลยที่ 2 และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินบางส่วนที่จำเลยที่ 1 จัดการให้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ถึงทางสาธารณะนั้น ย่อมเชื่อมโยงมาจากคำบรรยายฟ้องในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างกำแพงปิดกั้น การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยที่เกินกว่าคำพิพากษาเดิม และมิได้วินิจฉัยเกินคำขอของโจทก์ดังจำเลยที่ 2 ฎีกา”
พิพากษายืน