คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ถึงแม้ผู้ร้องถูกจับกุมในข้อหาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารจะพิจารณาพิพากษาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ก็ตาม เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลและไม่ได้ถูกควบคุมโดยอำนาจของศาล แต่ถูกควบคุมโดยพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาลทั้งประกาศของคณะปฏิวัติก็ไม่มีกล่าวไว้ถึงกรณียื่นคำร้องตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประการใดแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลอ้างว่า ถูกควบคุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 (1) นั่นเอง เมื่อผู้ร้องถูกควบคุมอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา ศาลอาญามีอำนาจรับคำร้องไว้ดำเนินการต่อไป ตามกฎหมายได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 32/2503)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลอาญาว่า รองอธิบดีกรมตำรวจได้ออกหมายจับผู้ร้องในข้อหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมผู้ร้องและได้ควบคุมผู้ร้องไว้ตลอดมาเป็นเวลา ๑ ปีเศษ โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๒ โดยมิได้ปฏิบัติตามกำหนดเวลาการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ ได้มีประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ แล้วได้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และมีประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วผู้ร้องเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๒ ใช้บังคับต่อไปไม่ได้ และการสอบสวนผู้ร้องก็เสร็จสิ้นแล้วด้วย การควบคุมผู้ร้องจึงเป็นการควบคุมโดยผิดกฎหมาย จึงขอให้ศาลอาญาไต่สวนแล้วสั่งปล่อยผู้ร้องไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗, ๙๐
ศาลอาญาไม่ไต่สวนโดยสั่งให้คำร้องว่าข้อหาที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาอยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจสั่ง จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ศาลล่างชี้ขาดว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหารก็โดยพิจารณาจากข้อหาที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับข้อที่ผู้ร้องมาร้องต่อศาลว่าถูกควบคุมโดยมิชอบ ฉะนั้น ประเด็นว่า ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อหาของผู้ร้องหรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัย เพราะในชั้นนี้มีปัญหาแต่เพียงวา เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลและไม่ได้ถูกควบคุมโดยอำนาจของศาล การร้องว่าถูกควบคุมโดยมิชอบนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลใด ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีบัญญัติไว้ว่าคำร้องตามมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะยื่นต่อศาลใดศาลหนึ่งโดยเฉพาะ จะบัญญัติเช่นนั้นไว้ก็ไม่ได้ เพราะบุคคลอาจถูกควบคุมโดยไม่มีมูลกรณีจะฟ้องร้องเลยก็ได้ แม้ประกาศของคณะปฏิวัติก็ไม่มีกล่าวไว้ประการใด ฉะนั้นศาลที่ผู้ร้องจะร้องได้ จึงหมายถึงศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑) นั้นเอง คดีนี้ผู้ร้องถูกควบคุมโดยพนักงานสอบสวนตำรวจสันติบาลในเขตอำนาจของศาลอาญา ฯ จึงมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการต่อไปได้
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำสั่งของศาลอาญาให้ศาลอาญารับคำร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share