คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1556/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากโกดัง โดยกล่าวว่า จำเลยได้เช่าโกดังจากเจ้าของเดิม ครบอายุสัญญาเช่าแล้วโจทก์ได้ซื้อโกดังจากเจ้าของเดิม ดังนี้จำเลยย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ และโจทก์ฟ้องจำเลยได้โดยอาศัยอำนาจทางกรรมสิทธิ์เป็นหลัก ไม่ได้อาศัยสัญญาเช่า
นิติบุคคลเช่าสถานที่ให้พนักงานของนิติบุคคลอยู่ ย่อมถือว่าเป็นกิจการส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในทางการค้าของนิติบุคคล จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ
อ้างฎีกาที่ 82/2494)
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อทรัพย์สินรายนี้จริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบ ดังนี้ ถือว่าไม่ใช่คำให้การปฏิเสธ จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องสืบถึงความข้อนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เช่าตึกโกดังจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีมีกำหนด 1 ปี ต่อมาเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์ได้ซื้อที่ดินรวมทั้งโกดังรายนี้จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและแจ้งให้จำเลยทราบการซื้อขายแล้ว โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย จำเลยและบริวารไม่ยอมออกจากตึกโกดัง จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาเช่าใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย จำเลยยังมีอำนาจเช่าอยู่ต่อไปและจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกพิพาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอาศัยอำนาจทางกรรมสิทธิ์เป็นหลัก การที่โจทก์อ้างสัญญาเช่ามาในคำฟ้องเพื่อแสดงพฤติการณ์ที่จำเลยได้เข้าอยู่ในที่เช่าโดยการเช่าจากเจ้าของเดิม แม้สัญญาเช่าจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วน บัดนี้ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ต่อไปเพราะสัญญาเช่าสิ้นอายุและมิได้ต่ออายุสัญญาเช่าเดิมนั้น กับจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า หาใช่อาศัยอำนาจตามสัญญาเช่าเป็นหลักในการขอขับไล่ไม่

จำเลยฎีกาว่า จำเลยเช่าสถานที่เช่าให้พนักงานของจำเลยอยู่อาศัยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ นั้นศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุระกิจการค้าเช่าสถานที่ให้พนักงานของจำเลยอยู่อาศัย ย่อมถือได้ว่าเป็นกิจการส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในทางการค้าของจำเลยนั่นเอง การเช่าจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ

ส่วนฎีกาอีกข้อหนึ่งศาลฎีกาเห็นว่าในคดีแพ่งถ้าจำเลยประสงค์จะต่อสู้ในข้อใด จำเลยจะต้องกล่าวในคำให้การโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งเหตุผล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 2คดีนี้จำเลยให้การว่าโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อทรัพย์สินรายนี้จริงหรือไม่จำเลยไม่ทราบ ดังนี้ถือว่าไม่ใช่คำให้การปฏิเสธ จึงถือว่าไม่มีข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยอันเป็นประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบจึงพิพากษายืน

Share