แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่1สร้างสะพานลอยลงบนทางเดินเท้าหน้าที่ดินของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่โดยที่ดินแปลงนี้โจทก์ซื้อมาเป็นเวลาเกือบ20ปีและไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาใช้ประโยชน์แต่อย่างใดคงปล่อยให้มีสภาพเป็นที่ว่างเปล่ามีต้นไม้และวัชชพืชขึ้นปกคลุมโครงสร้างอาคารตึกแถวที่ทิ้งร้างไว้ตั้งแต่ตอนโจทก์ซื้อมาทั้งๆที่บริเวณดังกล่าวเป็นย่านธุรกิจการค้าแวดล้อมไปด้วยอาคารพาณิชย์นอกจากนี้จำเลยที่1ยังได้กำหนดโครงสร้างของบันไดสะพานในหน้าที่ดินของโจทก์เป็นบันไดพับ เพื่อมิให้ติดขัดในการเข้าออกที่ดินของโจทก์อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่1ได้พยายามให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่โจทก์น้อยที่สุดจึงถือว่าโจทก์มิได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษอันที่จะห้ามมิให้จำเลยที่1กับพวกงดเว้นการก่อสร้างสะพานดังกล่าวได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยงดเว้นการก่อสร้างสะพานลอย หน้าที่ดินโจทก์ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ทำไปแล้วและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วยอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการเดือดร้อนเสียหายแก่โจทก์เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์มิได้รับความเสียหาย ยังสามารถใช้ที่ดินและอาคารได้โดยสะดวกตามสภาพที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ให้การว่าเป็นเพียงผู้รับจ้างขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนสะพานส่วนที่ปิดบังหน้าที่ดินโฉนดของโจทก์ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันพิพากษาจนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ให้ใช้ค่าทดแทนการขาดประโยชน์ตามคำขอท้ายฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 800 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้สร้างสะพานลอยพิพาทลงบนทางเดินเท้า หน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 25262 ของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ที่ดินของโจทก์มีเพียงโครงสร้างอาคารตึกแถวที่สร้างทิ้งร้างไว้และยังเป็นที่ว่างเปล่าจึงมีปัญหาว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพียงใดหรือไม่เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1337 บัญญัติว่า “บุคคลใดใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้เจ้าของอสสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร ในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบไซร้ ท่านว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีสิทธิจะปฏิบัติการ เพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน” เห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ความเสียหายหรือความเดือดร้อนที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับนั้นจะต้องถึงขนาดเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายเป็นพิเศษเกินกว่าธรรมดา ตามความรู้สึกของบุคคลทั่ว ๆ ไป จึงจะมีสิทธิฟ้องผู้ใช้สิทธิให้เกิดความเสียหายนั้นได้ข้อเท็จจริงปรากฎวว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 25262 ของโจทก์ยังมีสภาพเป็นที่ว่างเปล่า มีต้นไม้และวัชชพืชขึ้นปกคลุมโครงสร้างอาคารตึกแถวที่สร้างทิ้งร้างไว้ ตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงนี้มาตั้งแต่พ.ศ. 2509 จนกระทั่งบัดนี้โจทก์ยังมิได้ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยแต่อย่างใดอีกทั้งโจทก์เองก็มิได้อยู่ในที่ดินแปลงนี้ฉะนั้นโจทก์จึงมิได้รับความเดือดร้อนคำคาญอันเกิดจากการสร้างสะพานลอยพิพาทของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด และเมื่อคำนึงถึงสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งที่ดินของโจทก์มาประกอบแล้วเห็นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 25262 ของโจทก์ตั้งอยู่ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าแวดล้อมไปด้วยอาคารพาณิชย์ สภาพที่ดินของโจทก์มิใช่อยู่ในย่านที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ปรากฎจากคำเบิกความของนายบำเพ็ญ พยานจำเลยที่ 1 ว่า โครงสร้างสะพานบังหน้าที่ดินของโจทก์ไม่หมด ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกในสำนักนโยบายและแผนงานมหาดไทย ได้คำนึงถึงเรื่องโครงสร้างสะพานบังหน้าที่ดินของโจทก์ด้วย จึงได้กำหนดให้โครงสร้างของบันไดสะพานทางด้านใต้(หน้าที่ดินของโจทก์) เป็นบันไดพับ เพื่อมิให้ติดขัดในการเข้าออกที่ดินของโจทก์แสดงว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทนี้ จำเลยที่ 1 ได้พยายามให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่โจทก์น้อยที่สุด โจทก์มิได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการสร้างสะพานลอยพิพาทหน้าที่ดินของโจทก์แต่ประการใด
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.