แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ในวันประชุมตั้งบริษัทจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ปรากฎลายมือชื่อของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองลงชื่อจองหุ้น และค้างชำระค่าหุ้น อยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปและยังมีบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญครั้งที่ 1/2525 ที่บริษัทจำเลย ส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานครเอกสาร หมาย จ.9 เป็นพยานสนับสนุนอีกซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1024 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีเอกสารของบริษัทนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ทุกประการ ผู้ร้องคัดค้านไม่สามารถนำสืบหักล้างพยานหลักฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ดังนี้ฟังได้ว่า ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองยังคงถือหุ้นและค้างชำระค่าหุ้น และค้างชำระค่าหุ้นอยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงหนี้ไปจริง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกผู้ร้องคัดค้านในสำนวนแรกและสำนวนหลังว่า ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยได้มีหนังสือถึงผู้ร้องคัดค้านทั้งสองยืนยันให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ชำระค่าหุ้นจำนวน 250 หุ้น หุ้นละ 750บาท เป็นเงิน 187,500 บาท และให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ชำระค่าหุ้นจำนวน 500 หุ้น หุ้นละ 750 บาท เป็นเงิน 375,000บาท ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลย
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองไม่ได้ค้างชำระค่าหุ้นและไม่ได้เป็นหนี้บริษัทจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระค่าหุ้นที่ค้างให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องคัดค้านทั้งสองออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยทั้งสองสำนวนคัดค้านว่า ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมจัดตั้งบริษัท ของบริษัทจำเลย ปรากฎว่าผู้ร้องคัดค้านที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อจองหุ้นจำนวน 250 หุ้น และผู้ร้องคัดค้านที่ 2ได้ลงลายมือชื่อจองหุ้นจำนวน 500 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 250 บาท คงค้างชำระหุ้นละ 750 บาทผู้ร้องคัดค้านทั้งสองจึงต้องผูกพันที่จะต้องชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1106 ประกอบมาตรา 1024 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องคัดค้านทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 1ชำระค่าหุ้นที่ค้างเป็นเงิน 187,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทจำเลยและให้ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 ชำระค่าหุ้นที่ค้างเป็นเงิน 375,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองมีว่า ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นและค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปหรือไม่ ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองไม่ได้มาเบิกความต่อศาลด้วยตนเอง คงมีแต่นายออมปาร์กาส บาจาชล์ ซึ่งเป็นบิดาของผู้ร้องคัดค้านที่ 1และเป็นสามีของผู้ร้องคัดค้านที่ 2 เบิกความว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองถือหุ้นแทนพยาน เพราะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจำเลยซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศต้องการก่อตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทยเข้าร่วมด้วย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจำเลยขอยืมชื่อผู้ร้องคัดค้านทั้งสองซึ่งมีสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2524 พยานได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการในบริษัทจำเลยและได้แจ้งให้บริษัทจำเลยทราบว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองก็ต้องออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นด้วยโดยได้มีการโอนหุ้นนั้นให้แก่บริษัททรานเวิลด์ เอสโซซิเอทส์จำกัด ซึ่งบริษัทจำเลยก็ได้ตกลงยินยอมทุกประการ ตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 หลังจากนั้นพยานได้รับแจ้งจากนายภักดี ศรีชวาลา ว่าได้จัดการให้พยานพ้นจากตำแหน่งกรรมการและผู้ร้องคัดค้านทั้งสองพ้นจากการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองมิได้นำนายภักดี ศรีชวาลาซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยมาเป็นพยาน แม้จะได้ความว่าบริษัทจำเลยได้จดทะเบียนการลาออกจากการเป็นกรรมการของนายออมปาร์กาส บาจาชล์ แล้ว ตามเอกสารหมาย ร.2 ก็ตามแต่เกี่ยวกับการโอนหุ้นของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองนั้น ไม่ปรากฎว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองได้ติดตามตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนผู้ถือหุ้นว่าได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ร้องคัดค้านทั้งสองเป็นชื่อของบริษัททรานเวิลด์ เอสโซซิเอทส์ จำกัดผู้รับโอนให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกสารหมาย จ.3 นายออมปาร์กาส บาจาชล์ ก็ให้การว่าตนเองมิได้ติดต่อกับบริษัทจำเลยและบริษัทจำเลยจะไปดำเนินการแก้ทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ก็ไม่ทราบ จึงขัดต่อเหตุผลและไม่น่าเชื่อถือเพราะเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระอยู่นั้นมีจำนวนมิใช่น้อย ซึ่งตามกฎหมายผู้โอนยังต้องรับผิดชอบชำระให้แก่บริษัทจำเลยอยู่หากไม่มีการจดทะเบียนโอนหุ้นกันให้ถูกต้อง ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองจะปฎิเสธว่าไม่ได้ให้หลักฐานหรือลงทรัพย์สินไว้กับบริษัทจำเลย เป็นเรื่องของผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยไปดำเนินการเองและผู้ร้องคัดค้านทั้งสองไม่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทจำเลยและเมื่อได้โอนหุ้นแล้วผู้ร้องคัดค้านทั้งสองมิได้เกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยอีก นั้น เห็นว่า ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลที่จะรับฟังได้ทั้งเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ร้องทั้งสองเองไม่ผูกพันบุคคลภายนอกเพราะหลักฐานทางทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นย่อมทำให้คนภายนอกเข้าใจได้ว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองยังเป็นผู้ถือตามนั้น หากบริษัทมีกำไรหรือขาดทุน หลักฐานทางทะเบียนก็ย่อมจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองและผู้รับโอนหุ้นนั้นได้ จึงไม่เชื่อว่าหากมีการโอนหุ้นไปแล้วจริงทั้งผู้โอนหรือผู้รับโอนจะมิได้ขวนขวายให้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียน นอกจากผู้ร้องคัดค้านทั้งสองจะมิได้มาเบิกความต่อศาลด้วยตนเองแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำสืบว่าในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องคัดค้านที่ 1 อ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายออมปาร์กาส บาจาชล์ ผู้ร้องคัดค้านที่ 2 อ้างว่าถือหุ้นดังกล่าวจริง แต่ได้โอนให้แก่บริษัททรานเวิลด์ เอสโซซิเอทส์จำกัด ไปแล้ว มิได้ให้การว่าผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจำเลยยืมชื่อผู้ร้องคัดค้านทั้งสองเข้าเป็นผู้ถือหุ้นดังที่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองนำสืบแต่อย่างใด ที่ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองอ้างว่าเพิ่งค้นพบเอกสารหมาย ร.4 ซึ่งเป็นหนังสือรับทราบการลาออกจากกรรมการของนายออมปาร์กาส บาจาชล์ และการพ้นจากเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหากในชั้นสอบสวนผู้ร้องคัดค้านทั้งสองหาเอกสารดังกล่าวไม่พบจริง ก็น่าจะให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสียด้วย แต่ก็หาได้ให้การเช่นนั้นไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1020เอกสารต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปยังนายทะเบียนประชาชนมีสิทธิตรวจดูได้จึงต้องฟังว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นอันถูกต้อง มิฉะนั้นถ้าให้ปฎิเสธได้ลอย ๆ แล้ว จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนทั่วไปเพราะประชาชนจำต้องอาศัยหลักฐานทางทะเบียนเป็นสำคัญเพื่อทราบถึงฐานะและความเป็นไปของบริษัท และในเรื่องนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดเอกสารหลักฐานเกี่ยวแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยไม่ได้เลย กรรมการของบริษัทจำเลยได้หลบหนีไปหมด ก็ต้องอาศัยหลักฐานจากนายทะเบียนซึ่งในเบื้องต้นต้องฟังว่าถูกต้อง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นประการอื่นสำหรับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นอกจากจะมีบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมตั้งบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2523ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปรากฎลายมือชื่อของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองลงชื่อจองหุ้นและค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้ไปเป็นพยานแล้ว ยังมีบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญครั้งที่ 1/2525เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 ที่บริษัทจำเลยส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานสนับสนุนอีก ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชี เอกสารของบริษัทนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องคัดค้านทั้งสองไม่สามารถนำสืบหักล้างพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องคัดค้านทั้งสองยังคงถือหุ้นและค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงหนี้ไปจริง”
พิพากษายืน