คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15467/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อ. ลูกจ้างโจทก์เคยใช้สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่พิพาทจากโจทก์พร้อมเงินอื่น เนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างในคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งระหว่างการพิจารณาในคดีดังกล่าว อ. กับโจทก์ตกลงกันได้และ อ. ได้สละสิทธิเรียกร้องในเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงระงับสิ้นไป อ. จึงไม่อาจนำเอาสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับไปแล้วไปยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาและมีคำสั่งได้อีก ดังนั้น อ. จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาแก้คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ในส่วนที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่นายอุกฤษฎ์ จำนวน 13,033 บาท เป็นจำนวน 6,331.26 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2537 โจทก์จ้างนายอุกฤษฎ์ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 14,800 บาท เบี้ยกันดารเดือนละ 3,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน วันที่ 1 สิงหาคม 2541 โจทก์ประกาศกำหนดวันเวลาทำงานปกติและวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยให้ลูกจ้างทำงานระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์วันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง หยุดวันเสาร์เว้นเสาร์และวันอาทิตย์ วันเสาร์ที่มีการทำงานจะทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ในสัปดาห์ที่ไม่ได้ทำงานในวันเสาร์รวมเวลาทำงานสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมงครึ่ง และในสัปดาห์ที่ทำงานในวันเสาร์รวมเวลาทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงครึ่ง วันที่ 24 ธันวาคม 2550 โจทก์เลิกจ้างนายอุกฤษฎ์ให้เหตุผลว่าทุจริตต่อหน้าที่ วันที่ 1กรกฎาคม 2551 นายอุกฤษฎ์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาในสัปดาห์ที่ต้องทำงานวันเสาร์ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงครึ่ง จำเลยมีคำสั่งโดยคิดภายในเวลา 2 ปี ย้อนหลังนับแต่วันสิ้นสุดสัญญาจ้างและคำนวณจากฐานเงินเดือนและเบี้ยกันดารให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลา 13,033 บาท แก่นายอุกฤษฎ์ และระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงและรับกันว่าหากนายอุกฤษฎ์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามคำวินิจฉัยของจำเลยโดยคิดภายในเวลา 2 ปี ย้อนหลังนับแต่วันสิ้นสุดสัญญาจ้างและคำนวณจากฐานเงินเดือนและเบี้ยกันดารที่ได้รับแต่ละเดือน คิดเป็นเงิน 6,331.26 บาท แล้วศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่มุ่งคุ้มครองมิให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เว้นแต่เป็นงานที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องไม่เกิน 7 ชั่วโมง ตามมาตรา 23 และเว้นแต่งานที่เข้าข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ข้อ 2 อาจตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติในวันหนึ่งกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ดังนี้ การที่โจทก์กำหนดให้ลูกจ้างทำงานระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง หยุดวันเสาร์เว้นเสาร์และวันอาทิตย์ วันเสาร์ที่ทำงานจะทำวันละ 8 ชั่วโมง ในสัปดาห์ที่ไม่ได้ทำงานในวันเสาร์รวมเวลาทำงานสัปดาห์ละ 42 ชั่วโมงครึ่ง และในสัปดาห์ที่ทำงานในวันเสาร์รวมเวลาทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงครึ่ง นั้น แม้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างที่ได้หยุดประจำสัปดาห์เพิ่มขึ้นและลูกจ้างเป็นผู้ร้องขอก็ตาม แต่ลูกจ้างต้องทำงานเพิ่มขึ้นในวันทำงานปกติวันละครึ่งชั่วโมงและสัปดาห์ใดทำงานในวันเสาร์ต้องทำงานเป็นเวลา 50 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเกินกว่ากฎหมายบัญญัติไว้ ข้อตกลงนี้จึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ต้องถือว่าชั่วโมงทำงานในส่วนที่เกินเป็นการทำงานล่วงเวลาที่มีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา และเวลาทำงานปกติในแต่ละสัปดาห์สามารถแยกกันออกได้อย่างชัดเจนหากทำงานสัปดาห์ใดไม่เกิน 48 ชั่วโมง ข้อตกลงในเวลาทำงานปกติย่อมบังคับได้หาใช่ตกเป็นโมฆะทั้งหมดไม่ คำสั่งของจำเลยที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่นายอุกฤษฎ์จึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อคู่ความรับกันว่านายอุกฤษฎ์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาคิดเป็นเงิน 6,331.26 บาท โจทก์จึงต้องรับผิดจ่ายค่าล่วงเวลาแก่นายอุกฤษฎ์เพียง 6,331.26 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 หรือไม่ เห็นว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่านายอุกฤษฎ์ ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ท้ายคำแถลงของจำเลย ฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2552 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ว่า นายอุกฤษฎ์เคยใช้สิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่พิพาทจากโจทก์พร้อมเงินอื่นเนื่องจากถูกโจทก์เลิกจ้างในคดีหมายเลขแดงที่ รย.310/2551 ของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งระหว่างการพิจารณาในคดีดังกล่าว นายอุกฤษฎ์กับโจทก์ตกลงกันได้และนายอุกฤษฎ์ได้สละสิทธิเรียกร้องในเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องในค่าล่วงเวลาดังกล่าวนั้นจึงระงับสิ้นไป นายอุกฤษฎ์จึงไม่อาจนำเอาสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาที่ระงับไปแล้วไปยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้พิจารณาและมีคำสั่งได้อีก ดังนั้น นายอุกฤษฎ์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าล่วงเวลาแก่นายอุกฤษฎ์จึงไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 78/2551 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2551 เฉพาะในส่วนของนายอุกฤษฎ์

Share