คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2488

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานผิดวินัยนั้นแม้จะได้มีการฟ้องศาลและศาลยกฟ้องแล้ว ก็นำมาพิจารณาโทษผิดวินัยอีกก็ได้ ในเรื่องสอบสวนฐานผิดวินัยไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องแจ้งข้อหาให้ทราบก่อนจึงจะสอบสวนได้
ทำผิดฐานผิดวินัยก่อนมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2482 การพิจารณาโทษต้องนำ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2479 มาใช้ เพราะ ม.17 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ 2482 บัญญัติไว้เช่นนั้น.

ย่อยาว

คดีนี้ศาลล่างทั้ง ๒ พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปตามหน้าที่ราชการไม่เป็นการละเมิด
โจทก์ฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยดังต่อไปนี้
๑. โจทก์อ้างว่าเมื่อถูกฟ้องว่าทุจริตต่อหน้าที่และศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้ว จำเลยหมดสิทธิตามกฎหมายที่จะกล่าวหาโจทก์ฐานทำผิดฐานทำผิดวินัยและขอปลดโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่าตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ๒๔๗๙ ได้แยกการปลดข้าราชการออกฐานผิดวินัยฐานทำผิดอาญาไว้ต่างหากกัน และไม่มีกฎบังคับห้ามมิให้พิจารณาโทษวินัยในเมื่อศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้ว
๒. โจทก์อ้างว่าในการพิจารณาโทษฐานผิดวินัยนี้จำเลยไม่ได้แจ้งข้อหาให้โจทก์ทราบ จำเลยจึงไม่มีสิทธิพิจารณาโทษ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีกฎหมายบังคับว่าการสอบสวนโทษทางวินัยจะปฏิบัติอย่างไร และเรื่องนี้โจทก์ได้ทราบเรื่องดีอยู่แล้ว เพราะเดิมกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งกรรมการสอบสวนการฟ้องคดีต่อศาลก่อนมีการพิจารณาโทษทางวินัยอยู่ก่อนแล้ว
๓. โจทก์อ้างว่าเป็นข้าราชการชั้นตรีตาม ม.๕๘ ตอน ๒ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ๒๔๘๒ จะสอบสวนความผิด โจทก์ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ทำความผิดก่อนมี พ.ร.บ.นี้มาพิจารณาเมื่อใช้ พ.ร.บ.นี้แล้ว กรณีต้องใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ๒๔๗๙ เพราะมาตรา ๗๗ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ๒๔๘๓ บัญญัติไว้เช่นนั้น และตามนัยกฎหมายที่นำมาใช้นี้ ก.พ.ก็ได้พิจารณาให้ปลดออกจากราชการ จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย
๔. โจทก์อ้างว่าไม่ได้ทำประมาทเลินเล่อในหน้าที่จะปลดโจทก์ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นเพราะได้รับในชั้นชี้ขาดสองสถานแล้ว กรณีมีประเด็นเพียงว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ขอให้พิจารณาปลดโจทก์ฐานผิดวินัย ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยมีสิทธิ
จึงพร้อมกันพิพากษายืนศาลอุทธรณ์

Share