คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15303/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์
รายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า “เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ…” ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใดจึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยจนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน และฟ้องคดีเป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้
จำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการเคหะชุมชนสมุทรสาคร ระยะ 2 เลขที่ 33/1686 เนื้อที่ 52.2 ตารางเมตร ชั้นที่ 3 หลังที่ 10 อาคารชุดแบบ เอฟ 3 ถนนธนบุรี – ปากท่อ ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร แก่โจทก์ หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการเคหะชุมชนสมุทรสาคร ระยะ 2 เลขที่ 33/1686 ชั้นที่ 3 หลังที่ 10 ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร แก่โจทก์ หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มีนาคม 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2541 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการเคหะชุมชนสมุทรสาคร ระยะ 2 เลขที่ 33/1686 ชั้นที่ 3 หลังที่ 10 อาคารชุดแบบ เอฟ 3 ถนนธนบุรี – ปากท่อ ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จากจำเลย ในราคา 600,000 บาท โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 แต่จำเลยไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว แต่จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ จำเลยมิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วน แม้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดตกเป็นของโจทก์โดยผลของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคหนึ่ง แล้วก็ตาม แต่ห้องชุดเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมย่อมไม่บริบูรณ์เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ยังต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนด้วย เพราะไม่เช่นนั้นย่อมไม่อาจที่จะใช้สอยห้องชุดในฐานะเจ้าของทรัพย์สินอย่างสมบูรณ์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในทางทะเบียนให้แก่โจทก์ ส่วนที่ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาเช่าซื้อห้องชุด ข้อ 16 กำหนดว่า “เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อให้ผู้เช่าซื้อมารับโอนกรรมสิทธิ์ และผู้เช่าซื้อจะต้องมาขอรับโอนกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่าซื้อแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อทราบ…” ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยจะดำเนินการเมื่อใดจึงเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่ใจของจำเลยโดยแท้ เมื่อปรากฏว่านับแต่ที่โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยวันที่ 16 มีนาคม 2541 จนผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 และฟ้องคดีวันที่ 29 มีนาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีเศษ จำเลยยังมิได้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเลย ถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนเกินสมควรไปมาก เหตุที่จำเลยไม่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลอาคารชุดขึ้นและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ เพราะเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนและเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ก็มิใช่เป็นเหตุที่จำเลยจะอ้างเพื่อที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดและไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์
จำเลยฎีกาอีกว่า การที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าเช่าซื้อ 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ถือเป็นความประสงค์บอกเลิกสัญญากับจำเลย จำเลยจึงขอคืนเงินให้แก่โจทก์ตามส่วนโดยขอหักค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์เดือนละ 1,500 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยจนครบถ้วนและได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องขอเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงคำขอรองในกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้โจทก์บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ตามคำขอหลักได้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ จำเลยไม่อาจที่จะขอคืนเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าและค่าใช้ประโยชน์ห้องชุดพิพาทจากโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเป็นของโจทก์ ทั้งจำเลยให้การรับว่า ห้องชุดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว มิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าห้องชุดเป็นของจำเลย เพียงแต่อ้างว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียน การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ส่วนคำขอรองที่ว่า หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไปได้ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่กำหนดไว้ตลอดมาไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนส่วนที่เสียเกินมาให้แก่คู่ความทุกฝ่าย
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น 19,800 บาท แก่โจทก์ กับคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 23,600 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share