คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528-1530/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำนวนที่ 2-3 ศาลชั้นต้นต้องฟังข้อเท็จจริงเพื่อนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ แล้วจึงพิพากษาว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย ยกฟ้องย่อมเป็นการยกฟ้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงรวมมากับข้อกฎหมายว่าเป็นผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอีกจึงถือได้ว่าศาลทั้งสองยกฟ้องในข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนสำนวนที่ 1 แม้ศาลล่างยกฟ้องเพราะเหตุที่ฟ้องไม่ปรากฏชื่อผู้เรียงอีกเหตุหนึ่งด้วย ก็ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 219 เช่นกัน

ย่อยาว

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเขียนเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัดเลขที่ อี.869149 สั่งจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ถือเป็นเงิน 10,000 บาท มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนี้ และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ได้ในขณะที่ออกเช็ค โจทก์ผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคาร ๆ ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คนั้น ขอศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) (3)

สำนวนที่ 2 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเขียนเช็คธนาคารมณฑล จำกัดเลขที่ 42373 สั่งจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ถือเป็นเงิน 4,000 บาท โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนี้และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนเงินสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค ขอศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) (3)

สำนวนที่ 3 อัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจออกเช็คธนาคารมณฑล จำกัด เลขที่ 42372 สั่งจ่ายเงินสด 6,000 บาท ให้กับนางสาวทัศนีย์โสภณโภไคย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ได้ในขณะที่ออกเช็คและโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค นางสาวทัศนีย์ได้มอบเช็คให้ผู้มีชื่อไปรับเงินจากธนาคาร ๆ ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) (2) (3)

ศาลจังหวัดกำแพงเพชรเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏชื่อผู้เรียงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คเลขที่ อี.869149 นั้น จำเลยออกเนื่องจากการกู้เงินกัน 8,000 บาท และดอกเบี้ย 2,000 บาท เกินอัตราอันเป็นการร่วมกันกระทำผิดกฎหมายเรื่องเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราระหว่างจำเลยกับนางสุรีย์ โดยได้เช็คนี้มาจากนางสุรีย์ ไม่ใช่ได้มาจากตัวจำเลยโดยตรงเรื่องซื้อทอง โจทก์มิได้เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย เช็คเลขที่ 42373 เงิน 4,000 บาท ฟังว่าจำเลยออกให้แก่นางสุรีย์ภรรยาโจทก์ เป็นเรื่องจำเลยออกเช็คให้เป็นประกันโดยนางสุรีย์และจำเลยตั้งใจจะให้เป็นหลักฐานเพื่อการกู้ยืมเงินจากบุคคลภายนอกไม่ได้ตั้งใจจะให้ผูกพันกันตามเช็คนั้น ไม่เชื่อว่านายวิชัยให้จำเลยยืมเงิน เช็คเลขที่ 42372 เงิน 6,000 บาท ฟังว่าจำเลยออกเช็คฉบับนี้ให้นางสุรีย์เพื่อเอาไปหาเงินจากบุคคลภายนอก ไม่เชื่อว่าจำเลยกู้ นางสาวทัศนีย์ผู้ร้องทุกข์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 3 สำนวน

โจทก์ทั้ง 3 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เกี่ยวกับเช็คเลขที่ อี.869149 เงิน 10,000 บาทว่าไม่เชื่อว่าจำเลยออกเช็คให้นายวิชัยโจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อทองดังที่นายวิชัยอ้างเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น เช็คเลขที่ 42373 เงิน 4,000 บาทฟังว่าจำเลยขอยืมเงินนายวิชัย 4,000 บาท แล้วออกเช็คฉบับนี้ให้นายวิชัยไว้ในขณะไปขอกู้ยืมเงิน เช็คเลขที่ 42373 เงิน 6,000 บาท ฟังว่าจำเลยยืมเงินนางสาวทัศนีย์ 6,000 บาท แล้วออกเช็คฉบับนี้ให้ยึดถือไว้ เห็นเจตนาของเจ้าหนี้ได้ว่า ถ้าไม่มีเงินในธนาคาร เจ้าหนี้ก็จะดำเนินคดีอาญาบีบบังคับให้ลูกหนี้หาเงินมาชำระจนได้ ก็เท่ากับว่าเจ้าหนี้มีส่วนรวมในการออกเช็คนั้นด้วย เชื่อว่ากรณีเช็ค 3 สำนวนนี้ นายวิชัยและนางสาวทัศนีย์เรียกร้องเอาเช็คจากจำเลยเป็นประกันการชำระหนี้นายวิชัยและนางสาวทัศนีย์จึงได้ชื่อว่ามีส่วนรวมในการออกเช็คทั้ง 3 ฉบับที่เป็นมูลพิพาทในคดีนี้ ถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงพิพากษายืน

โจทก์ทั้ง 3 สำนวนฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาอ้างเหตุว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยข้อกฎหมายคดีโจทก์ไม่ต้องห้ามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในสำนวนที่ 2 และที่ 3 ตามฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลย คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงเพื่อนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายให้ยกฟ้องย่อมเป็นการยกฟ้องทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมา รวมกับอุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหาย ก็เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เพราะขอให้ฟังข้อเท็จจริง เพราะขอให้ฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเสียก่อนด้วยเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอีก จึงถือได้ว่าศาลทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงสำหรับสำนวนที่ 1 คงต่างกับสำนวนที่ 2 และที่ 3 แต่เพียงที่มีปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏชื่อผู้เรียงอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายต่างหาก จากปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ เฉพาะปัญหาข้อหลังนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับสำนวนที่ 2 และที่ 3 คดีของโจทก์ทั้ง 3 สำนวน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ได้พิเคราะห์ฎีกาของโจทก์ตลอดแล้วเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงจะรับไว้พิจารณามิได้

พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย

Share