แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานทำร้ายร่างกายและมีวัตถุระเบิดไว้โดยผิดกฎหมาย. แล้วโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานนั้น. เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขว้างวัตถุระเบิด. หากเป็นการกระทำของผู้อื่น. ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจยกข้อหาเรื่องจำเลยมีวัตถุระเบิดขึ้นวินิจฉัยว่าเป็นความจริงหรือไม่ได้ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกกระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ ร่วมกันทำร้ายนายศิริดาวเรือง มีระเบิดขวดไว้ในครอบครอง 1 ลูกต่อสู้ชัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม โดยใช้ระเบิดขวดขว้างทำให้เกิดระเบิดขึ้น จนน่าจะเป็นอันตรายแก่พวกเจ้าพนักงานและทรัพย์ของผู้อื่นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 221, 289, 295,83, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 38, 72,74 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3(2)(3) และริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายนายศิริดาวเรือง เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังมีวัตถุระเบิดไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้ระเบิดขวดขว้างเพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ และทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่นอีกด้วย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ ในข้อที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุระเบิดไว้โดยผิดกฎหมาย ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่นและกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายเสียใหม่ โจทก์ฝ่ายเดียวฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีวัตถุระเบิด ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานมีวัตถุระเบิดต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ในกระทงหนักฐานมีวัตถุระเบิดไว้โดยผิดกฎหมาย จำเลยไม่ได้อุทธรณ์เป็นอันยุติแล้วนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยใช้วัตถุระเบิดขว้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขว้างวัตถุระเบิด หากเป็นการกระทำของผู้อื่น ศาลก็ย่อมมีอำนาจยกข้อหาเรื่องจำเลยมีวัตถุระเบิดขึ้นวินิจฉัยว่าเป็นความจริงหรือไม่ได้ด้วย พิพากษายืน.