คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้(1)เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นฯลฯเมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด”ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นจะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วยอันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ค่าปุ๋ยเคมีให้แก่ผู้เสียหายเมื่อเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าปุ๋ยเคมีอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา158(5)หาเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ ย. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมแม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะไม่มีข้อความระบุว่าย.มอบอำนาจให้ป. เป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่จำเลยโดยกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมก็ตามก็ถือได้ว่าการลงลายมือชื่อดังกล่าวและประทับตราของโจทก์ร่วมมิใช่กระทำในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่จำเลยจึงสมบูรณ์ตามกฎหมายพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยชอบโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 เวลากลางวันจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาย่อยลาดบัวหลวงจำนวน 5 ฉบับ สั่งจ่ายในวันที่ 10 เมษายน 2536, 15 เมษายน 2536,20 เมษายน 2536, 30 เมษายน 2536 แบะ 14 พฤษภาคม 2536จำนวนเงิน 1,079,000 บาท 1,118,000 บาท 539,500 บาท559,000 บาท และ 338,000 บาท ตามลำดับ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าปุ๋ยเคมีให้แก่บริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด ผู้เสียหายเมื่อเช็คทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าวถึงกำหนดผู้เสียหายได้นำเช็คเข้าบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองสาน เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น เหตุเกิดที่ตำบลสามเมือง อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2645/2536ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเวิลด์เฟอท จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 กระทงที่ 1 และที่ 2 จำคุกกระทงละ 8 เดือน กระทงที่ 3ที่ 4 และที่ 5 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 4 เดือนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่าผู้เสียหายเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทซึ่งจำเลยออกเพื่อชำระหนี้ค่าปุ๋ยเคมีให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อเช็คถึงกำหนด ผู้เสียหายได้นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ดังนี้ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าปุ๋ยเคมีอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หาเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2538 ระหว่าง นายปัง แซ่ลิ้ม โจทก์นายสรรัตน์ โตตันติกุล จำเลย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2133/2537และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2537 ที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยฎีกาประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.2 ระบุว่า นายยงยุทธ เสถียรถิระกุล มอบอำนาจให้นายประคอง บุญวิวัฒน์ มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่จำเลยโดยมิได้ระบุว่า กระทำในฐานะผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วม การมอบอำนาจให้นายประคอง บุญวิวัฒน์ ร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมจึงไม่สมบูรณ์การที่พนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ป.จ.2นายยงยุทธ เสถียรถิระกุล กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมลงชื่อในช่องผู้มอบอำนาจพร้อมทั้งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วม แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะไม่มีข้อความระบุว่านายยงยุทธมอบอำนาจให้นายประคองเป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่จำเลยโดยกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมก็ตาม ก็ถือได้ว่าการลงลายมือชื่อดังกล่าวและประทับตราของโจทก์ร่วมมิใช่กระทำในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่จำเลยจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า โจทก์ร่วมได้สลักหลังเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับให้นายยงยุทธนำไปเรียกเก็บเงินเข้าในบัญชีของตนเองเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนายยงยุทธเป็นผู้ทรงและเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า การที่นายยงยุทธนำเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ เข้าบัญชีของนายยงยุทธเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นเป็นการเรียกเก็บเงินแทนโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่มีเจตนาจะโอนเช็คพิพาทไปยังนายยงยุทธแต่ประการใด ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงยังเป็นผู้ทรงเช็ค เมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
สำหรับฎีกาจำเลยประการสุดท้ายที่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจำเลย จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share