คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหมดโดยผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ จำเลยต่อสู้ว่าเป็นของบุตรสาวผู้ตายทั้งหมดและบุตรสาวผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยครึ่งหนึ่งโจทก์ครึ่งหนึ่ง ถึงแม้จำเลยจะรับรู้สิทธิของโจทก์ว่ามีอยู่ครึ่งหนึ่งของที่ดินตามพินัยกรรมก็ตาม ก็ต้องคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทตามราคาที่ดินทั้งหมด ไม่ใช่เพียงครึ่งหนึ่งเพราะพิพาทกันในชั้นมรดกเดิม ไม่ใช่มรดกตอนหลัง
เมื่อเจ้ามรดกตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท นั้น ทายาทก็อาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้ตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคท้าย
เจ้าของที่ดินทำพินัยกรรมยกที่ดินให้วัดโจทก์โดยระบุให้ยายและมารดามีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต เมื่อเจ้าของที่ดินตายแล้ว โจทก์มิได้ใช้สิทธิแก่ที่ดินนี้ประการใดปล่อยให้มารดาของเจ้ามรดกครอบครองที่ดินและจดทะเบียนโอนรับมรดกเป็นของตนด้วย ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับพินัยกรรมจึงขาดอายุความไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคท้าย ศาลฎีกาประชุมใหญ่มีมติว่า วัดโจทก์หมดสิทธิตามพินัยกรรมแล้ว (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2503)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโจทก์ 2 แปลง เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์โดยนางสาวกฤษณ์ กรศิริ ได้ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์เมื่อ พ.ศ. 2468แล้วนางสาวกฤษณ์ตายเมื่อปี พ.ศ. 2469 ในพินัยกรรมให้อำนาจนางลำดวนและนางรวย กรศิริ ผู้เป็นยายและมารดามีสิทธิเก็บกินในที่ดินนี้จนตลอดชีวิต ต่อมานางลำดวนตาย นางรวยใช้สิทธิเก็บกินต่อมาจนตายเมื่อปี พ.ศ. 2500 แต่ระหว่างนางรวยมีชีวิตอยู่ นางรวยได้ขอโอนโฉนดเป็นของนางรวยรับมรดกนางสาวกฤษณ์ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยเป็นหลานและผู้รับมรดกของนางรวยได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ที่ดิน2 แปลงนี้ โดยจะยอมให้เป็นของโจทก์เพียงครึ่งเดียวจึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินทั้ง 2 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของโจทก์ ให้ถอนชื่อนางรวยออกจากโฉนด ลงชื่อวัดโจทก์เป็นเจ้าของต่อไป

จำเลยให้การรับว่า นางสาวกฤษณ์ได้ทำพินัยกรรมจริง และตายเมื่อปี พ.ศ. 2469 จริง แต่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วตั้งแต่นางสาวกฤษณ์ตาย โจทก์มิได้โอนรับมรดกตามพินัยกรรมของโจทก์เป็นเวลานานถึง 10 ปี จนกระทั่งนางรวยได้ขอโอนรับมรดกในฐานะเป็นทายาทของนางสาวกฤษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยโจทก์ไม่คัดค้านอย่างใด จนนางรวยตายเป็นเวลาอีก 20 กว่าปี จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนี้มาตามพินัยกรรมของนางรวยลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2499 ซึ่งทำกันที่วัดโจทก์ โดยโจทก์ก็ทราบดี โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องตามพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์ได้อีก และไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ ขอให้ยกฟ้อง

คู่ความรับกันว่า นางสาวกฤษณ์ได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2468จริงและตายปี พ.ศ. 2469 จริงโดยโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนรับโอนมาเป็นของโจทก์ ต่อมา พ.ศ. 2478 นางรวยได้จดทะเบียนใส่ชื่อนางรวยจริง แต่โจทก์ไม่ทราบและพินัยกรรมของนางรวยนั้นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้เซ็นชื่อไว้ตอนเปิดอ่านพินัยกรรมเมื่อนางรวยตายแล้ว

โจทก์แถลงไม่สืบพยาน จำเลยจะขอสืบว่าเมื่อนางรวยจดทะเบียนรับโอนมรดกและเมื่อทำพินัยกรรมให้จำเลยนั้น เจ้าอาวาสวัดโจทก์ได้ทราบโจทก์ว่าถ้าให้จำเลยสืบก็ขอสืบแก้

ศาลแพ่งสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาว่า ที่ดินรายนี้นางสาวกฤษณ์ได้ทำพินัยกรรมยกถวายวัดโจทก์โดยชอบแล้ว ย่อมตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด เมื่อนางสาวกฤษณ์ตายโดยไม่ต้องจดทะเบียนการโอน และผู้ใดจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ไม่ได้นอกจากโดยกฎหมายเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 7 หรือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 นางรวยจึงไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ธรณีสงฆ์ให้จำเลยได้ ให้ถอนชื่อนางรวยออกจากโฉนดและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาคัดค้านค่าขึ้นศาล และอายุความสิทธิเรียกร้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องค่าขึ้นศาลที่จำเลยว่าควรเสียเพียงครึ่งหนึ่งของราคาที่ดินเพราะจำเลยยอมรับรู้สิทธิของโจทก์ครึ่งหนึ่งแล้วนั้น โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นของโจทก์จำเลยต่อสู้ว่าเป็นของนางรวยทั้งหมด จึงต้องคำนวนราคาที่ดินทั้งหมดเป็นทุนทรัพย์ ไม่ใช่เพียงครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องมรดกของนางรวย เพราะพิพาทกันถึงมรดกของนางสาวกฤษณ์ ไม่ใช่มรดกนางรวย

ส่วนปัญหาอายุความนั้น มีข้อต้องวินิจฉัยว่า ที่พิพาทได้ตกมาเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดโจทก์แล้วหรือยัง ศาลฎีกาเห็นว่าหลักที่ว่าเมื่อเจ้ามรดกตายมรดกตกทอดแก่ทายาท นั้น ทายาทก็อาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 วรรคท้าย คดีนี้โจทก์ไม่สืบพยานและไม่ได้รับกันว่าโจทก์ได้เคยใช้สิทธิแก่ที่ดินมรดกนี้ประการใดและโจทก์ไม่ได้แสดงว่านางลำดวนกับนางรวยได้ครอบครองที่ดินไว้แทนโจทก์อย่างไรเลย นางรวยเป็นมารดาหรือทายาทโดยธรรมของนางสาวกฤษณ์และได้ครอบครองที่มรดกนี้มาตั้งแต่นางสาวกฤษณ์ตาย และยังได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดรับมรดกมาเป็นของนางรวยด้วย ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์จึงขาดอายุความไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย จำเลยย่อมยกอายุความอันเป็นประโยชน์แก่นางรวยซึ่งเป็นทายาทของนางสาวกฤษณ์ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในอายุความ ศาลฎีกาประชุมใหญ่มีมติว่าวัดโจทก์หมดสิทธิในพินัยกรรมของนางสาวกฤษณ์แล้ว

จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share