คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์ให้มีการจดทะเบียนสมรสด้วยนั้น หากฝ่ายหญิงไม่ยอมจดทะเบียนทำให้การสมรสไม่สมบูรณ์ ชายเรียกสินสอดคืนได้
ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูแขกที่จ่ายไปในพิธีแต่งงาน ที่ไม่มีการหมั้นและไม่สมบูรณ์เพราะไม่จดทะเบียนสมรสนั้น หาอาจเรียกค่าทดแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ไม่ เพราะไม่เป็นการผิดสัญญาหมั้น และไม่เข้าลักษณะอันเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้สู่ขอจำเลยที่ ๑ บุตรจำเลยที่ ๒ เป็นภริยาจำเลยที่ ๒ ตกลงและจำเลยที่ ๑ ก็สมัครจะสมรสกับโจทก์ โดยเรียกค่าสินสอด ๑,๒๕๐ บาท แล้วได้ทำพิธีแต่งงานกัน โจทก์จ่ายเงินสินสอดและเสียค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงานไปรวม ๓,๓๒๕ บาท หลังแต่งงานแล้ว โจทก์ชวนจำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนสมรส และขอให้จำเลยที่ ๒ ไปให้ความยินยอมเพราะจำเลยที่ ๑ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยทั้งสองผัดหลายครั้ง ผลสุดท้ายจำเลยที่ ๑ โดยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ ๒ ได้หนีออกจากบ้านไป ไม่ยอมเป็นภริยาโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินสินสอดและค่าเสียหายแก่โจทก์รวม ๓,๓๒๕ บาท
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สินสอดมีจำนวนเพียง ๑,๐๐๐ บาท ได้คืนให้โจทก์ไปแล้ว ค่าใช้จ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย และจำเลยที่ ๑ หลบหนีไปเอง จำเลยที่ ๒ ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย
วันนัดพร้อม จำเลยที่ ๒ รับว่าได้รับเงินสินสอดไว้ ๑,๖๕๐ บาทจริง แต่ได้คืนโจทก์ไปแล้ว ๑,๐๐๐ บาท และรับว่าโจทก์ได้เลี้ยงแขกที่บ้านโจทก์ในการแต่งงานจริง
ศาลจังหวัดขอนแก่นฟังข้อเท็จจริงว่า การแต่งงานรายนี้ไม่มีการตกลงกันก่อนว่าจะต้องไปจดทะเบียนสมรส พฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยมุ่งเพียงทำพิธีตามธรรมเนียมท้องถิ่นเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จะเรียกค่าสินสอดคืนไม่ได้ ค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงานย่อมเป็นพับไป และเงินค่าผูกแขน ๒๓๖ บาท เป็นของบิดาโจทก์ ๆ ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกคืน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การแต่งงานรายนี้มุ่งหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องมีการจดทะเบียน เมื่อจำเลยเป็ยฝ่ายไม่ไปจดทะเบียน จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนค่าสินสอดและค่าเสียหายให้โจทก์ เฉพาะค่าสินสอดที่จำเลยต่อสู้ว่าคืนให้โจทก์แล้ว ๑,๐๐๐ บาทนั้น ไม่น่าเชื่อ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยคืนเงินสินสอด ๑,๖๕๐ บาท ค่าเสียหายในการเลี้ยงแขก ๑,๔๓๙ บาท รวม ๓,๐๘๙ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การสมรสรายนี้คู่สมรสจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่บังเกิดผลให้แต่ละฝ่ายเกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานเป็นสามีภริยากัน ฉะนั้น การที่ต่อมาจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนและจำเลยที่ ๑ ได้หลบหนีไปเสียเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะเรียกเงินสินสอดซึ่งให้จำเลยเพื่อตอบแทนการสมรสคืนจากจำเลย ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๖ และเชื่อว่าจำเลยยังไม่ได้คืนเงินสินสอดรายนี้ให้โจทก์เลย
ส่วนค่าเสียหายในการเลี้ยงดูแขกในวันแต่งงาน ๑,๔๓๙ บาท ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชดใช้โจทก์นั้น เห็นว่า การสมรสรายนี้ไม่มีการหมั้นอันจะก่อให้เกิดสัญญาสมรสตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเหตุผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๘ จากจำเลยได้ ทั้งค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูกันนี้ก็ไม่เข้าลักษณะอันเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๙ (๒) ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้แก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลี้ยงแขก ๑,๔๓๙ บาทให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share