แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลจ้าวเป็นที่กุศลสถานประเภทหนึ่งตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 15 มีนาคม 2463 ออกตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา123 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดการปกครองและและตรวจตราสอบส่องอยู่โดยเฉพาะ หาใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงหามีอำนาจฟ้องห้ามมิให้ผู้อื่นครอบครองห้องพิพาทของศาลจ้าวได้ไม่.
ตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลจ้าว ข้อ 14 ก. อำนาจฟ้องเกี่ยวด้วยเรื่องศาลจ้าวทุกประการเป็นของผู้จัดการปกครองศาลจ้าว และตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 123 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองมีหน้าที่เพียงคอยตรวจตราอุดหนุนผู้ปกปักรักษาวัดหรือกุศลสถานอย่างอื่นเท่านั้นการที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีชื่อเป็นของในโฉนดก็ตาม เป็นผู้มีชื่อเป็นคู่สัญญากับผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณศาลจ้าวในหนังสือสัญญาก็ตาม ก็เป็นการกระทำแทนและในนามศาลจ้าวซึ่งมีผู้จัดการปกครองศาลจ้าวเป็นผู้มีอำนาจฟ้องอยู่แล้วตามกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้หาได้ไม่.
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2503)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินบริเวณศาลจ้าวแม่ประดู่กับกรมพระนครบาลเพื่อปลูกสร้างตึกให้เช่ามีกำหนด ๒๕ ปี เมื่อครบกำหนด ๒๕ ปี จำเลยยอมมอบตึกที่ปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของศาลจ้าวแม่ประดู่และในระหว่างสัญญาเมื่อจำเลยก่อสร้างเสร็จจำเลยจะส่งรายการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตึกไว้ศาลาว่าการนครบาล และเมื่อจำเลยเก็บรายได้จากตึกที่ก่อสร้างในปีหนึ่งมากน้อยเท่าใด ให้หักดอกเบี้ยในเงินทุนเสียก่อนชั่งละ ๕๐ สตางค์ต่อเดือน หักแล้วเหลือเงินเท่าใด จำเลยยอมแบ่งรายได้ที่เหลือให้แก่ศาลจ้าวร้อยละ ๕ ทุกปี จำเลยได้ทำการก่อสร้างตึกสองชั้น ๓ ห้อง เสร็จเรียบร้อย พ.ศ. ๒๔๗๕ และให้เช่าหาผลประโยชน์ตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้ แต่จำเลยฝ่าฝืนข้อสัญญาหลายครั้ง สัญญาเช่าระหว่างกรมพระนครบาลกับจำเลยได้สิ้นอายุแล้วเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๐๐ ตึกแถว ๓ ห้องจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของศาลจ้าวแม่ประดู่ตามสัญญา โจทก์ได้แจ้งให้เลิกการเช่าแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาล ๑.พิพากษาห้ามมิให้จำเลยครอบครองตึกพิพาท ๒.ให้จำเลยส่งรายการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตึก ๓.ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้อง
วันชี้สองสถาน ศาลสอบโจทก์ที่ ๓ ว่าได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันกับห้องพิพาท ๓ ห้อง และเรียกค่าเสียหายตามสำนวนคดีดำที่ ๑๖๒๖/๒๕๐๐ จริงหรือไม่ โจทก์ที่ ๓ แถลงรับว่าจริง ศาลสอบทนายโจทก์ที่ ๑ – ๒ ว่า อาศัยสิทธิอะไรมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ ทนายโจทก์แถลงว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ดูแลศาลจ้าวแม่ประดู่ทนายโจทก์ที่ ๑ – ๒ แถลงว่า ได้ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ ๓ ฟ้องจำเลย ๆ แถลงรับว่า ที่โจทก์แถลงเป็นความจริงและว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นไม่สืบพยานและพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับโจทก์ที่ ๓ ไม่ปรากฏว่าได้ฎีกาคัดค้านขึ้นมา จึงไม่ต้องวินิจฉัยถึงข้อฎีกาที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๓
โจทก์ที่ ๒ ฟ้องในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลจ้าวเป็นที่กุศลสถานประเภทหนึ่งตามกฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลและกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๓ ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกปักรักษา กับทั้งมีผู้จัดการปกครองและตรวจตราสอดส่องอยู่โดยเฉพาะ จึงหาใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำจานฟ้องจำเลยคดีนี้
ตามกฏสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลจ้าวข้อ ๑๔ ก. อำนาจฟ้องเกี่ยวด้วยเรื่องศาลจ้าวทุกประการเป็นของผู้จัดการปกครองศาลจ้าวและตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๓ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองมีหน้าที่เพื่อคอยตรวจอุดหนุนผู้ปกปักรักษาวัดหรือกุศลสถานอย่างอื่นเท่านั้น การที่โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดก็ตาม เป็นผู้มีชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยในหนังสือสัญญาก็ตาม ก็เป็นการกระทำแทนและในนามศาลจ้าวซึ่งมีผู้จัดการปกครองศาลจ้าวเป็นผู้มีอำนาจฟ้องอยู่แล้วตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้หาได้ไม่.
พิพากษายืน.