คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1500/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรายพิพาทไว้เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยึดถือครอบครองจนกว่าจะบังคับคดีเสร็จสิ้นหรือมีการถอนการบังคับคดี ในระหว่างการยึดนั้นแม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้เป็นเจ้าของก็ไม่อาจก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้แล้ว ดังนั้น แม้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินรายพิพาทก็ไม่อาจอ้างสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นเหตุให้ที่ดินรายพิพาทหลุดพ้นไปจากการบังคับคดี
จำเลยเข้าครอบครองปลูกยางพาราในที่ดินรายพิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อบังคับคดีย่อมมิใช่เป็นการเพาะปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ประกอบกับมาตรา 1314 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีเพียงสิทธิที่จะบังคับตามมาตรา 1311 ประกอบกับมาตรา 1314 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ต้นยางพาราที่จำเลยกรีดเป็นของที่จำเลยปลูกทำลงไว้ การที่จำเลยกรีดยางดังกล่าวหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายผุดเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงหนึ่งของโจทก์ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่ยังมิได้ดำเนินการขายทอดตลาด ต่อมาเมื่อประมาณ ๕-๖ ปี ก่อนฟ้องจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์โดยบุกรุกเข้าไปกรีดยางและปลูกยางพาราในที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วยังนำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดเพื่อขอออก น.ส.๓ ก. ขอให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวและอาสินในที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๕๔,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายวันละ ๓๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์เอาที่ดินรายพิพาทตีใช้หนี้ตามคำพิพากษาแก่นายผุดแล้วจำเลยซื้อจากนายผุดโดยสุจริต จำเลยเข้าครอบครองเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยมากว่า ๑๐ ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ ยางพาราที่จำเลยกรีดเป็นยางพาราที่จำเลยปลูกเองโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินรายพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๒๐ บาทนับแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ยกที่ดินรายพิพาทตีใช้หนี้ตามคำพิพากษาให้นายผุด เมื่อนายผุดไม่มีสิทธิอย่างใดในที่ดินรายพิพาท ถึงหากจะฟังว่านายผุดขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลย จำเลยก็หามีสิทธิดีว่านายผุดไม่จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินรายพิพาท และวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินรายพิพาทไว้เพื่อบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีสิทธิยึดถือครอบครองจนกว่าจะบังคับคดีเสร็จสิ้นหรือมีการถอนการบังคับคดี ในระหว่างการยึดนั้นแม้แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาผู้เป็นเจ้าของก็ไม่อาจก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๕ ดังนั้นจำเลยย่อมไม่อาจอ้างสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นเหตุให้ที่ดินรายพิพาทหลุดพ้นไปจากการบังคับคดี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความหรือขาดสิทธิฟ้องร้องดังที่จำเลยฎีกา
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเพราะยางพาราที่จำเลยกรีด เป็นยางพาราที่จำเลยปลูกในที่ดินรายพิพาทโดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเข้าครอบครองปลูกยางพาราในที่ดินรายพิพาทโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อบังคับคดี ย่อมมิใช่เป็นการเพาะปลูกต้นไม้ในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๐ ประกอบกับมาตรา ๑๓๑๔ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้จำเลยจะปลูกต้นยางพาราในที่ดินรายพิพาทโดยไม่สุจริต โจทก์ก็มีเพียงสิทธิที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๑ ประกอบกับมาตรา ๑๓๑๔ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าต้นยางพาราที่จำเลยกรีดนั้นเป็นของที่จำเลยปลูกทำลงไว้ การที่จำเลยกรีดยางดังกล่าวหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ส่วนการที่จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินรายพิพาทและตัดฟันต้นยางพาราเก่าของโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดนั้น โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share