แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ใช้และครอบครองเครื่องโทรศัพท์จำเลยซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้นำความเท็จไปแจ้งผู้บังคับบัญชาจำเลยว่า โจทก์ค้างชำระค่าเช่าโทรศัพท์ขอให้ระงับการใช้โทรศัพท์ของโจทก์ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยหลงเชื่อจึงอนุมัติให้ระงับการใช้โทรศัพท์จนโจทก์ต้องนำเงินไปชำระให้แก่จำเลยเช่นนี้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวหาเข้าลักษณะเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 309 ไม่ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำให้โจทก์กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของโจทก์ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ตามที่กฎหมายระบุไว้เลย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ใช้และครอบครองโทรศัพท์ ส่วนจำเลยเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จำเลยโดยเจตนาทุจริตนำความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จไปแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยว่า โจทก์ค้างชำระค่าเช่าโทรศัพท์ประจำเดือนมีนาคม 2527 เป็นเงิน 628 บาทจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระแล้วโจทก์ไม่ยอมชำระภายในกำหนด จึงขอระงับการใช้โทรศัพท์ของโจทก์เสีย ผู้บังคับบัญชาของจำเลยหลงเชื่อจึงอนุมัติให้จำเลยระงับการใช้โทรศัพท์ของโจทก์ ทั้งที่ความจริงโจทก์ไม่เคยทราบก่อนเลยว่า โจทก์ค้างชำระค่าเช่าโทรศัพท์ และจำเลยก็ไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่การสอบสวนเป็นไปโดยล่าช้า เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายเพราะโจทก์ไม่มีเครื่องโทรศัพท์ใช้ โจทก์จึงต้องจำยอมนำเงิน 628 บาท ไปชำระให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพ เพราะเป็นการข่มขืนใจให้โจทก์ต้องนำเงินจำนวน 628 บาท ไปชำระแก่จำเลยทั้งที่โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 หรือไม่พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า โจทก์เป็นผู้ใช้และครอบครองเครื่องโทรศัพท์ จำเลยซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้นำความเท็จไปแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยว่า โจทก์ค้างชำระค่าเช่าโทรศัพท์ ขอให้ระงับการใช้โทรศัพท์ของโจทก์ผู้บังคับบัญชาของจำเลยหลงเชื่อ จึงอนุมัติให้ระงับการใช้โทรศัพท์จนโจทก์ต้องนำเงินไปชำระให้แก่จำเลย เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา309 บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย…” ดังนี้ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าว หาเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ไม่ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำให้โจทก์กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ของโจทก์ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ ตามที่กฎหมายระบุไว้เลย ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.