คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14818/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อายุความ 1 ปี ในการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือวันที่โจทก์ทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลย โจทก์เพิ่งทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 อายุความ 1 ปี เริ่มต้นนับจากวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กันยายน 2547 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีไม่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 มาใช้บังคับ เพราะขณะที่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้น คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุดแต่อย่างใด
ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมรวมถึงงานเรียบเรียงเสียงประสานด้วย เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ในส่วนของงานเรียบเรียงเสียงประสาน และปกในของเทปเพลงที่วางจำหน่ายทั่วไปโดยมีงานดังกล่าวอยู่ด้วยระบุรายละเอียดของเพลงนี้ว่า ส. เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองส่วนจำเลยเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 62 วรรคสอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โต้แย้งว่า จำเลยไม่มีลิขสิทธิ์ในงานเรียบเรียงเสียงประสานของงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า”
กรณีมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจว่า จำเลยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเคยแจ้งให้มีการระงับการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะแจ้งความร้องทุกข์เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมายได้ ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด การที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพีรพลกรรมการผู้จัดการโจทก์ ได้รับโอนลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” จากนายสมหวังต่อมาโจทก์ผลิตแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ชื่อชุดว่า “สเปเชียล…ฮิต 1” โดยมีเพลง “น้ำตาฟ้า” รวมอยู่ด้วย แต่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์กับพวกละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะจำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่จะกระทำการดังกล่าว เนื่องจากจำเลยไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ การแจ้งความร้องทุกข์เป็นการปกป้องผลประโยชน์อันพึงได้ของจำเลยโดยสุจริต เพราะจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” โดยถูกต้องตามกฎหมายเพียงผู้เดียว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2546 ต่อมาประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยลงวันที่ 30 เมษายน 2547 ว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งศาลแพ่งได้อ่านคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 ประมาณปี 2532 นายพีรพลซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ ตกลงทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมกับนายสมหวังผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ต่อมาปี 2545 โจทก์ผลิตแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ชื่อชุดว่า “สเปเชียล…ฮิต 1” โดยมีเพลง “น้ำตาฟ้า” รวมอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2545 จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์กับพวกละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ของจำเลย พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกลงวันที่ 11 กันยายน 2546 ให้โจทก์ไปพบเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ และไม่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ในปัญหานี้โจทก์มีนายสุทธิศักดิ์มาเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.5 ว่า โจทก์ได้รับหมายเรียกของพนักงานสอบสวนลงวันที่ 11 กันยายน 2546 และโจทก์ไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 และอายุความ 1 ปี เริ่มต้นนับจากวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 9 กันยายน 2547 คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ในทำนองว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์หยุดการกระทำละเมิดต่อจำเลย ซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า โจทก์รับโอนลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้ทำวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่าย แต่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์กับพวกละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ของจำเลย ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อายุความ 1 ปี ในการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือวันที่โจทก์ทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ จึงรับฟังว่าโจทก์เพิ่งทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 นั่นเอง อายุความ 1 ปี เริ่มต้นนับจากวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กันยายน 2547 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีไม่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 มาใช้บังคับ เพราะขณะที่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้น คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุดแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาอื่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนเสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยอีก โดยปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเป็นประการแรก คือ จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” หรือไม่ เห็นว่า ตามบทนิยามศัพท์ ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมรวมถึงงานเรียบเรียงเสียงประสารด้วย เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ในส่วนของงานเรียบเรียงเสียงประสาน และเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งเป็นปกในของเทปเพลงที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยมีงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” อยู่ด้วย ได้ระบุรายละเอียดของเพลงนี้ว่า นายสมหวังเป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง ส่วนจำเลยเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 วรรคสอง ที่ว่า “งานใดมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อของบุคคลใดที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงแสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์หรือนักแสดง” โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โต้แย้งว่า จำเลยไม่มีลิขสิทธิ์ในงานเรียบเรียงเสียงประสานของงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” แต่โจทก์มีเพียงนายสุทธิศักดิ์และนายพิมพ์ปฏิภาณมาเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.3 ในทำนองว่า โจทก์ได้รับโอนลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” มาจากนายสมหวังโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ เกี่ยวกับงานดนตรีกรรมเพลงดังกล่าว ในขณะที่ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.8 ถึง ล.11 และ ล.13 ยืนยันว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานเรียบเรียงเสียงประสานของงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” เห็นว่า เอกสารหมาย จ.3 ระบุเพียงว่า นายสมหวังเป็นผู้ทรงสิทธิและเป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” สอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยโดยเฉพาะเอกสารหมาย ล.11 ที่เป็นหนังสือวางจำหน่ายทั่วไปก็ระบุว่า นายสมหวังเป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” เมื่อโจทก์ไม่ได้นำนายสมหวังมาเบิกความต่อศาลด้วยจึงยังฟังไม่ได้ว่าการที่โจทก์ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.3 กับนายสมหวังนั้นจะมีผลทำให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” แต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนคำเบิกความของนายพิมพ์ปฏิภาณในทำนองว่า พนักงานของบริษัทผู้ผลิตเพลง “น้ำตาฟ้า” เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ก็เป็นเพียงความเห็นของนายพิมพ์ปฏิภาณเท่านั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ มาสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานและพยานหลักฐานของจำเลย คดีเป็นอันรับฟังว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ในส่วนของงานเรียบเรียงประสาน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เมื่อคดีรับฟังว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ในส่วนของงานเรียบเรียงเสียงประสาน ต่อมาโจทก์ผลิตแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ชื่อชุดว่า “สเปเชียล…ฮิต 1” โดยมีเพลง “น้ำตาฟ้า” รวมอยู่ด้วย ตามเอกสารหมาย จ.4 และวัตถุพยานหมาย วจ.1 และฝ่ายจำเลยนำสืบต่อไปโดยมีจำเลยและนายเสนีย์มาเบิกความว่า งานเรียบเรียงเสียงประสานของงานดนตรีกรรมเพลง “น้ำตาฟ้า” ของโจทก์ เอกสารหมาย ล.14 เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลย เอกสารหมาย ล.13 กรณีจึงมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจว่า จำเลยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเคยแจ้งให้มีการระงับการกระทำละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยจึงชอบที่จะแจ้งความร้องทุกข์เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมายได้ ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด การที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share