แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCarrenaโดยโจทก์จะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ดังนั้น แม้โจทก์จะเคยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCarrenaกับสินค้าของตนมาก่อนจำเลยโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCarrenaพร้อมลวดลายประดิษฐ์ของจำเลยได้ เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCanonMattressในลักษณะที่มีลวดลายประดิษฐ์ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCannon-mattessพร้อมลวดลายประดิษฐ์และรูปเด็กนอนตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าอักษรโรมันคำว่าCanon-mattessเหมือนกับอักษรโรมันคำว่าCanonMattressของโจทก์แทบทุกตัวอักษร มีส่วนแตกต่างกันเฉพาะคำว่าMattessของจำเลยกับคำว่าMattressของโจทก์ เพราะของโจทก์มีอักษรโรมันตัวrอยู่ระหว่างตัวtกับ ตัวeส่วนของจำเลยนั้นไม่มีตัวrอยู่เลยและตัวอักษรMของโจทก์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนตัวอักษรMของจำเลยเป็นตัวพิมพ์เล็กเท่านั้น ส่วนประกอบอื่น ๆเช่น ลวดลายประดิษฐ์ก็คล้ายคลึงกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปเด็กนอนอยู่เหนือคำว่าCanon-mattessและมีคำอ่านว่าคานอนแมทเทส แต่จุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็คืออักษรโรมันคำว่าCanon-mattessซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ฉะนั้น หากไม่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมาวางเปรียบเทียบกันดูทุกตัวอักษรแล้วประชาชนผู้ซื้อสินค้าก็ยากที่แยกแยะได้ว่าเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของโจทก์และเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของจำเลยฉะนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่าCanon-mattessของจำเลยจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของจำเลยดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCarrenaและคำว่าCanon Mattressและยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปลวดลายประดิษฐ์ ทั้งที่เป็นรูปลวดลายประดิษฐ์ล้วน ๆ และมีคำว่า Carrena และคำว่าCanon Mattressโจทก์ได้ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์เช่น ที่นอน หมอนฟูก ผ้าปูที่นอน เฟอร์นิเจอร์ เบาะ มาเป็นเวลานานเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2530 และวันที่ 14 เมษายน 2530 จำเลยซึ่งขณะนั้นยังเป็นกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแอบนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า Carrena กับคำว่าCanon Mattress พร้อมกับรูปลวดลายประดิษฐ์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเอง โดยดัดแปลงเลียนแบบคำว่า Mattressด้วยวิธีตัดตัว “R” ออกเหลือเป็นคำว่า Canon-mattessใช้กับสินค้าจำพวก 41 รายการที่นอน และต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้หลงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยตามทะเบียนเลขที่ 112691 และ 114073 และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530 จำเลยยังนำเครื่องหมายการค้าคำว่า Carrena พร้อมรูปลวดลายประดิษฐ์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 168739ใช้กับสินค้าจำพวก 50 รายการสินค้า หมอน ผ้าปูที่นอนผ้าคลุมเตียงไว้อีกด้วย ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena กับคำว่า Canon Mattress และเครื่องหมายการค้ารูปลวดลายประดิษฐ์ทั้งที่เป็นคำและเป็นรูปดังกล่าวตามลำพัง และที่ใช้ร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทั้งหมด โดยโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าเหล่านั้นดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 112691และเลขที่ 114073 และถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 168739 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง แต่จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena และอักษรโรมันคำว่า Canon-mattessโดยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วก่อนโจทก์ และจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าของจำเลยตลอดมา โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้านี้และไม่เคยโฆษณาว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น โจทก์ทราบดีแต่ไม่ได้คัดค้านเพราะได้มีการตกลงกันระหว่างโจทก์และจำเลยโดยโจทก์ตกลงยอมให้จำเลยแยกตัวออกจากบริษัทโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า Carrena พร้อมลวดลายประดิษฐ์ จำเลยย่อมมีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 50 อีกได้ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดีกว่าโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธินำเครื่องหมายการค้าคำว่า Carrena และคำว่า Canon Mattressซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปใช้กับสินค้าของโจทก์เพราะจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าเป็นสินค้าของจำเลยขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์เลิกผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena คำว่า Canon-mattess และคำว่าCanon-mattress กับสินค้าของโจทก์ ให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena และคำว่า Canon-mattessดีกว่าโจทก์ในสินค้าทุกประเภท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena และคำว่า Canon mattressแต่เครื่องหมายการค้านี้เป็นของโจทก์ จำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตแอบอ้างลักลอบนำเครื่องหมายการค้าคำว่า Carrena และ Canon-mattessไปจดทะเบียนเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า Canon Mattress หรือคำว่า Canon-mattessล้วน ๆ หรือที่มีรูปลวดลายประดิษฐ์ตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 2 รูปที่ 2 และ รูปที่ 5 ในสินค้าทุกประเภทดีกว่าจำเลยและจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrenaอ่านว่า คารีน่า ล้วน ๆ หรือที่มีรูปลวดลายประดิษฐ์ตามเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 2 รูปที่ 1 และรูปที่ 4 และเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 3 ในสินค้าทุกประเภทดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 164530 และทะเบียนเลขที่ 114073 เสียคำขออื่นของโจทก์และของจำเลยในส่วนฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า Carrenaและเครื่องหมายการค้าคำว่า Canon Mattress ในลักษณะที่ไม่มีและมีลวดลายประดิษฐ์กำกับ โจทก์ได้ใช้กับสินค้าของโจทก์มาตั้งแต่ขณะที่จำเลยยังเป็นกรรมการของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2526ถึงวันที่ 19 เมษายน 2530 และโจทก์ก็ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าโจทก์ตลอดมา จำเลยเพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena พร้อมลวดลายประดิษฐ์ และอักษรโรมันคำว่า Canon-mattess พร้อมลวดลายประดิษฐ์ และรูปเด็กนอนเพื่อใช้กับสินค้าที่นอนซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเดียวกับสินค้าโจทก์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2530 และวันที่ 14 เมษายน 2530 ตามลำดับก่อนวันที่จำเลยออกจากบริษัทโจทก์เพียงไม่กี่วัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย แต่สำหรับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิใช้เฉพาะเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena โดยโจทก์จะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์จริง ดังนั้น แม้โจทก์จะเคยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena กับสินค้าของตนมาก่อนจำเลย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Carrena พร้อมลวดลายประดิษฐ์ของจำเลยได้ส่วนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Canon Mattress ในลักษณะที่มีลวดลายประดิษฐ์ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า Canon-mattess พร้อมลวดลายประดิษฐ์และรูปเด็กนอนตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 114073 ของจำเลยนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าอักษรโรมันคำว่า Canon-mattess เหมือนกับอักษรโรมันคำว่า Canon Mattress ของโจทก์แทบทุกตัวอักษรมีส่วนแตกต่างกันเฉพาะคำว่า mattess ของจำเลยกับคำว่าMattress ของโจทก์ เพราะของโจทก์มีอักษรโรมันตัว r อยู่ระหว่างตัว t กับตัว e ส่วนของจำเลยนั้นไม่มีตัว r อยู่เลยและตัวอักษรMของโจทก์เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ส่วนตัวอักษร M ของจำเลยเป็นตัวพิมพ์เล็กเท่านั้น ส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น ลวดลายประดิษฐ์ก็คล้ายคลึงกัน แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปเด็กนอนอยู่เหนือคำว่า Canon-mattess และมีคำอ่านว่า คานอน-แมทเทส แต่จุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยก็คืออักษรโรมันคำว่าcanon-mattess ซึ่งคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ฉะนั้น หากไม่นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมาวางเปรียบเทียบกันดูทุกตัวอักษรแล้ว ประชาชนผู้ซื้อสินค้ายากที่แยกแยะได้ว่าเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของโจทก์และเครื่องหมายการค้ากับสินค้าใดเป็นของจำเลย ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่าCanon-mattess ของจำเลยจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิฟ้องให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท
พิพากษายืน