แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. โอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ พ.ให้โจทก์ตามพินัยกรรมที่พ. ทำไว้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของบิดาโจทก์จำเลยซึ่งเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมให้แก่โจทก์มิได้ เพราะเป็นการนอกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พ. ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลงพร้อมเรือน1 หลัง และยกที่ดินสวนยางพาราให้แก่โจทก์โดยโจทก์ได้เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่มิได้จัดการมรดกและไม่ยอมแบ่งมรดกให้โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องรบกวนที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ให้โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ทำพินัยกรรมปลอมขึ้นเพื่อเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ น. บิดาโจทก์จำเลยซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว โจทก์จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ น. ที่ดินตามฟ้องจำเลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนและแบ่งแยกที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 762 เฉพาะส่วนที่เป็นของ พ.ให้โจทก์ และจดทะเบียนโอนและแบ่งแยกที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 763 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ให้แก่โจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวน โจทก์จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 762 เนื้อที่ 3 ใน 4 ส่วนให้โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า พินัยกรรมของนางพ่วน สุขดำ ใช้บังคับโจทก์จำเลยสำหรับที่ดินตาม น.ส. 3 ก.เลขที่ 762 เนื้อที่ 34 ไร่ 93 ตารางวาได้หรือไม่ โจทก์มีนายกรอด ทองสอง มาเบิกความเป็นพยานว่าที่ดินซึ่งปลูกบ้านอยู่อาศัยเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่แต่เดิมนายนุ่น สุขดำ จับจองอยู่มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ต่อมานายนุ่น ได้นางพ่วนเป็นภริยาแล้วช่วยกันบุกเบิกจนมีเนื้อที่เพิ่มเป็น 34 ไร่เศษ นายกรอดพยานโจทก์ว่ามีที่ดินอยู่ติดที่พิพาท นายกรอดน่าจะรู้ความเป็นมาของที่พิพาทแปลงนี้ได้ดี น่าเชื่อว่าเดิมที่พิพาทแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ต่อมานายนุ่นบิดาโจทก์จำเลยและนางพ่วนช่วยกันบุกเบิกจนมีเนื้อที่เป็น 34 ไร่เศษ ที่จำเลยมีนายผรอย ขุนทองมาเบิกความว่า นายนุ่น นางพริ้มมีที่ดินอยู่บ้านเกาะปรางเป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ซึ่งน่าจะหมายถึงที่พิพาทแปลงนี้ แต่นายผรอยว่าบ้านอยู่ห่างที่พิพาทประมาณ 4 – 5 กิโลเมตรไม่น่าเชื่อว่าจะรู้ความเป็นมาของที่พิพาทแปลงนี้ดีกว่านายกรอดพยานโจทก์ และเมื่อนางพ่วนขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์นายผรอยก็เป็นพยานรับรองสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงนี้ของนางพ่วนด้วย จึงเป็นการสนับสนุนให้น่าเชื่อยิ่งขึ้นว่านางพ่วนและนายนุ่นได้ครอบครองที่ดินพิพาทแปลงนี้อย่างเป็นเจ้าของร่วมกันมา ที่จำเลยเบิกความว่าบิดาได้ชี้เขตแบ่งที่ดินพิพาทแปลงนี้ให้จำเลยกับโจทก์มีสิทธิครอบครองคนละครึ่งแต่จำเลยก็เบิกความต่อไปว่านางพ่วนได้จ้างให้คนกรีดยางในสวนยางซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทแปลงนี้ รายได้จากการกรีดยาง นางพ่วนไม่ได้แบ่งให้จำเลย ก็แสดงว่านางพ่วนยังถือว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแปลงนี้อยู่ในฐานะเป็นของตนและแทนทายาทนายนุ่น จำเลยก็ไม่คัดค้านหากจำเลยได้รับแบ่งที่ดินพิพาทแปลงนี้จากนายนุ่นจริงจำเลยก็น่าจะขอแบ่งรายได้จากการกรีดยางจากนางพ่วนบ้างข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานจำเลยฟังได้ว่าที่ดินพิพาทแปลงนี้นางพ่วนและนายนุ่นมีสิทธิครอบครองร่วมกันมา ยังมิได้แบ่งให้ผู้ใด นางพ่วนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินส่วนของนางพ่วนตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 762หมู่ที่ 4 ตำบลหนองปรือ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เพียงครึ่งหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนางพ่วนให้โอนมรดกของนางพ่วนให้โจทก์ตามพินัยกรรม การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของบิดาโจทก์จำเลยซึ่งเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมให้แก่โจทก์ด้วย จึงเป็นการนอกฟ้องฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น