คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 18 บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา เมื่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จำหน่ายตั๋วเดินทางยักยอกเงินค่าตั๋วเดินทางที่จำเลยได้รับไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมายไม่เป็น ‘พนักงาน’ ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ด้วย
ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้เสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยขายตั๋วเดินทางได้เงินทั้งสิ้น ๘,๑๕๘ บาท แล้วไม่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้นายสถานีรถไฟตามระเบียบแต่เบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๔ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ๘,๑๕๘ บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ จำคุก ๕ ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๘,๑๕๘ บาทแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยักยอกเงินจำนวน ๘,๑๕๘ บาทของการรถไฟแห่งประเทศไทยจริงดังฟ้อง และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๘ บัญญัติให้พนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ บัญญัติไว้ว่า ผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ไม่เป็น’พนักงาน’ ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้เสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๔๗ เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share