แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยให้การเถียงความหมายในการแปลสัญญา ศาลจึงมีหน้าที่จะต้องชี้ขาดว่าสัญญานั้นมีความหมายว่าอย่างไร ถ้าหากสัญญามีข้อความชัดเจนเห็นความหมายได้แล้ว ศาลก็ย่อมตีความสัญญาไปตามนั้น หากถ้อยคำในสัญญาเป็นที่สงสัยศาลก็อาจดำเนินการสืบพยานถึงพฤติการณ์ต่างๆ ตลอดจนประเพณีเพื่อนำมาใช้ประกอบในการตีความนั้นได้ตามกรณี ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ตอนท้ายอนุญาตไว้
มาตรา 11 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมเป็นหลักในการแปลสัญญาจริง แต่มีความหมายเพียงว่าเมื่อศาลได้พิเคราะห์ถึงเหตุผลและพฤติการณ์อันจะนำมาประกอบการแปลหมดแล้ว กรณียังมีข้อสงสัยอยู่ จึงให้ตีความไปตามหลักที่กล่าวในมาตรา11 แต่ไม่ได้หมายความว่า ศาลจะใช้มาตรา 11 แปลสัญญาโดยไม่เหลียวแลถึงเหตุผลและพฤติการณ์ประกอบสัญญานั้นเสียเลย เมื่อถ้อยคำในสัญญายังเป็นที่สงสัย และศาลล่างสั่งงดสืบพยานมา ศาลฎีกามีอำนาจให้ศาลล่างพิจารณาพิพากษาใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยโอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาคิดเฉลี่ยตามที่โจทก์ปลูกเรือนอยู่แล้ว 8 เมตร ราคา 1,328 บาท จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญากับโจทก์จริง แต่สำเนาสัญญาท้ายฟ้องจะตรงกับต้นฉบับหรือไม่ จำเลยขอสงวนไว้ปฏิเสธตอนเห็นต้นฉบับโจทก์จะเอาที่ดินไม่ตรงตามสัญญา ไม่ใช่ความผิดของจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งทำแผนที่วิวาทเสร็จแล้วสั่งงดสืบพยาน พิพากษาให้จำเลยขายเพียงเนื้อที่ดินที่โจทก์ปลูกเรือนภายในเส้นสีเหลืองในแผนที่วิวาทกว้าง 8 เมตร 85 เซ็นติเมตร ยาว 13 เมตร 46 เซ็นติเมตร กับหน้าชานตัวเรือนใหญ่กว้าง 1 เมตร 11 เซ็นติเมตร ยาว 3 เมตร 60 เซ็นติเมตร
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องข้อ 3 โจทก์กล่าวว่า โจทก์ได้มีหนังสืออ้อนวอนให้จำเลยโอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา คือ ทิศเหนือ 8 เมตร ทิศตะวันออก 62 เมตร ทิศตะวันตก 62 เมตร โดยคิดเฉลี่ยตามราคาที่ซื้อจากนายหยัดเมตรละ 166 บาท เนื้อที่ 8 เมตรที่โจทก์ปลูกเรือนแล้ว คิดเป็นเงิน 1,328 บาท เป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์อ้างว่าตามสัญญาจำเลยจะต้องขายให้เป็นเนื้อที่ ดังนั้น จำเลยให้การเถียงความหมายในการแปลสัญญา ศาลจึงมีหน้าที่ต้องชี้ขาดตามสัญญาว่ามีความหมายว่าอย่างไร ถ้าหากตัวสัญญามีข้อความชัดเจน เป็นความหมายได้แล้ว ศาลก็ย่อมตีความสัญญาไปตามนั้น หากถ้อยคำในสัญญาเป็นที่สงสัย ศาลก็อาจดำเนินการสืบพยานตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนประเพณีเพื่อมาใช้ประกอบในการตีความนั้นได้ตามกรณี ดังประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายอนุญาตไว้ เพราะไม่ใช่การสืบเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติม ตัดทอนเอกสารที่ห้ามไว้ในตอนต้น มาตรา 11 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมเป็นหลักในการแปลสัญญาจริง แต่มีความหมายเพียงว่า เมื่อศาลได้พิเคราะห์ถึงเหตุผลและพฤติการณ์อันจะนำมาประกอบการแปลแล้ว กรณียังมีข้อสงสัยอยู่จึงให้ตีความไปตามหลักที่กล่าวในมาตรา 11 แต่ไม่ได้หมายความว่าศาลจะใช้มาตรา 11 แปลสัญญาโดยไม่เหลียวแลถึงเหตุผลและพฤติการณ์ประกอบสัญญานั้นเสียเลย ศาลฎีกาได้พิจารณาสัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องแล้วเห็นมีข้อสงสัยอยู่ ในการแปลสัญญานี้ ชอบที่ศาลจะได้ฟังพยานหลักฐานของคู่ความเพื่อประกอบการแปล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามรูปความ แล้วพิพากษาใหม่