คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1453/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 572 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ไม่ได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่าคู่สัญญาเช่าซื้อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายต้องลงชื่อในวันทำสัญญา เมื่อคู่สัญญาลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฝ่ายย่อมถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้กระทำเป็นหนังสือแล้ว ดังนั้น การที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยภายหลังจากวันที่ทำสัญญาเช่าซื้อนั้น สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินและอาคารที่เช่าซื้อและส่งมอบคืนให้โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จริง แต่โจทก์ยังไม่ได้มอบอาคารที่เช่าซื้อแก่จำเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายสรวุฒิ ตังกาพลทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2524 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยลงชื่อฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้ลงชื่อ มาลงชื่อภายหลังโดยโจทก์มอบอำนาจให้นายสรวุฒิ ตังกาพล ลงนามในสัญญาแทนโจทก์ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ถือว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาดังกล่าว สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.1จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 โจทก์จึงฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อในภายหลังใช้ได้ไม่มีกฎหมายห้าม พิพากษาคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าซื้อในสภาพที่เรียบร้อยแก่จำเลยหรือไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ได้ความตามที่รับกันว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2524 เพียงฝ่ายเดียว ต่อมาวันที่30 ตุลาคม 2524 โจทก์มอบอำนาจให้นายสรวุฒิ ตังกาพล มีอำนาจลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ยังมิได้ลงชื่อตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2519ถึงวันที่ 14 กันยายน 2524 แทนโจทก์ได้ นายสรวุฒิจึงได้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 แทนโจทก์ มีปัญหาว่าการที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อภายหลังจากวันที่ที่ทำสัญญาเช่าซื้อนั้นสัญญาเช่าซื้อจะสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ได้พิเคราะห์บทบัญญัติ มาตรา 572 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้ว่า”สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ”ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงแปลได้ว่าสัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือโดยลงชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่มีบทบัญญัติระบุไว้แต่อย่างใดว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะต้องลงชื่อในวันทำสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคู่สัญญาลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นได้กระทำเป็นหนังสือแล้วโดยคู่สัญญาหาจำเป็นต้องลงชื่อในวันเดียวกับที่ทำสัญญาเช่าซื้อไม่และเมื่อข้อวินิจฉัยเป็นดังนี้ แม้โจทก์ผู้มอบอำนาจจะมอบอำนาจให้นายสรวุฒิ ตังกาพล กระทำการแทนหลังวันที่ทำสัญญาและนายสรวุฒิได้ลงชื่อในสัญญาหลังจากได้รับมอบอำนาจแล้วก็ย่อมกระทำได้เช่นกันที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.1 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้วินิจฉัยในประเด็นพิพาทข้ออื่น ๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟ้องไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share