คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,500 บาท ในการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 โจทก์มีสิทธิ ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 86,000 บาท แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เพียง7,200 บาท ยังคงค้างจ่ายอีกเป็นเงิน 78,800 บาทโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมจ่าย ดังนี้คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540เป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 86,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว 7,200 บาท คงค้างอีก 78,800 บาทและเงินจำนวนที่ค้างอยู่นี้โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าได้ทวงถามแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับเงินจำนวนดังกล่าว หาใช่ต้องการได้รับเพียงจำนวน 7,880 บาท ตามที่ระบุในคำขอท้ายคำฟ้องไม่เหตุที่คำขอท้ายคำฟ้องระบุจำนวนเงินไว้ 7,880 บาทจึงเกิดจากความพลั้งเผลอเขียนตัวเลขผิดพลาดไป เป็นเหตุให้ศาลแรงงานพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงิน 7,880 บาทผิดพลาดตามไปด้วย อันเป็นกรณีคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยและคู่ความไม่ได้อุทธรณ์ โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลแรงงานมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้โดยแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 7,880 บาทเป็น 78,800 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาเข้ากับคดีอีกแปดสิบเอ็ดสำนวนโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 82แต่คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีของโจทก์คดีนี้ซึ่งเรียกว่าโจทก์ที่ 52
โจทก์ที่ 52 ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2535 จำเลยได้จ้างโจทก์ที่ 52 เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่ช่างเทคนิคได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,500 บาท (เป็นเงินเดือน18,500 บาท และเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 3,000 บาท) กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ในการทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 52 มีสิทธิได้รับค่าจ้างคิดเป็นเงิน 86,000 บาท แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เพียงจำนวน 7,200 บาท จำเลยยังคงค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 52 ทั้งสิ้นเป็นเงิน 78,800 บาท โจทก์ที่ 52 ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 7,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 52
จำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งหมดมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนตามบัญชีแนบท้ายคำพิพากษา (เฉพาะโจทก์ที่ 52จำนวน 7,880 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ที่ 52 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนค่าจ้างค้างจ่ายโจทก์ที่ 52 จากจำนวน 7,880 บาทเป็นจำนวน 78,800 บาท ตามที่ได้บรรยายฟ้องซึ่งเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องขอมิใช่การขอแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่งแก้ไขให้ไม่ได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ
โจทก์ที่ 52 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 52 มีว่า โจทก์ที่ 52 ขอให้แก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานกลางจากจำนวนเงิน 7,880 บาท เป็น 78,800 บาทได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 52 บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 52ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,500 บาท ในการทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 โจทก์ที่ 52มีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 86,000 บาท แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้เพียง 7,200 บาท ยังคงค้างจ่ายอีกเป็นเงิน 78,800 บาท โจทก์ที่ 52 ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมจ่าย เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 52 ได้บรรยายไว้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์ที่ 52 มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เป็นเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 86,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 52 แล้ว 7,200 บาท คงค้างอีก78,800 บาท และเงินจำนวนที่ค้างอยู่นี้โจทก์ที่ 52 บรรยายฟ้องยืนยันว่าได้ทวงถามแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่ 52ว่าประสงค์จะได้รับเงินจำนวนดังกล่าว หาใช่ต้องการได้รับเพียงจำนวน 7,880 บาท ตามที่ระบุในคำขอท้ายคำฟ้องไม่เหตุที่คำขอท้ายคำฟ้องระบุจำนวนเงินไว้ 7,880 บาท จึงน่าเชื่อว่าเกิดจากความพลั้งเผลอเขียนตัวเลขผิดพลาดไป เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ที่ 52 ได้รับเงิน 7,880 บาท ผิดพลาดตามไปด้วย อันเป็นกรณีคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย และคู่ความไม่ได้อุทธรณ์ โจทก์ที่ 52 จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้โดยแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 7,880 บาท เป็น 78,800 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์ที่ 52เป็นเงิน 78,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share