แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องกล่าวว่า จำเลยได้สมคบกันตัดจากในที่ของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเรียกค่าที่จำเลยกระทำให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน 3,000 บาท และปีต่อๆ ไปอีกปีละ 3,000 บาท ไม่ได้แสดงว่าค่าเสียหายที่เรียกล่วงหน้าเป็นค่าเสียหายอะไร จึงถือไม่ได้ว่าเรียกค่าเสียหายในฐานะขาดประโยชน์ที่ควรมีควรได้ในอนาคต ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้ได้แต่เพียง 3,000 บาท เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เห็นที่ดินซึ่งอยู่ที่ดินหลังสวนจากของนายปั่นบิดาโจทก์ อยู่ตำบลนาเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นที่ป่ารกไม้เบ็ญจพรรณ์ ไม่มีเจ้าของหวงห้าม โจทก์จึงแผ้วถางโก่นสร้างทำเป็นที่นา แต่ไม่ค่อยได้ผล โจทก์จึงแปลงทำเป็นที่สวนจากเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ราคาประมาณ 5,000 บาท ได้ครอบครองเป็นเจ้าของมาประมาณ 20 ปีแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2496 จำเลยทั้งสามสมคบกันตัดจากของโจทก์ประมาณ 15 ไร่โจทก์ได้ว่ากล่าวห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟัง อ้างว่า ที่ดินและจากทั้งแปลงเป็นของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ต้องเสียหายเป็นราคาเงิน 1,000 บาท ขอให้แสดงว่า ที่รายพิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารอย่าให้เกี่ยวข้อง และให้ใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท ยื่นคำร้องเพิ่มเติมว่า หลังจากโจทก์ได้ฟ้องแล้ว ในระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง ธันวาคม 2496 และตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยได้สมคบกันตัดจากในที่พิพาทของโจทก์ไปอีกหลายครั้ง กระทำให้โจทก์เสียหายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปอีกปีละ 3,000 บาท จึงขอให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย รวม 3,000 บาท และปีต่อไปอีกปีละ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสามแก้ว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสามเข้าไปตัดจากนั้นเดิมเป็นที่ดินของนายปั่น นางตาน บิดามารดาโจทก์และจำเลยทั้งสามมีใบไต่สวนที่ 103 และ 104 เมื่อนางตานมารดาตายแล้ว นายปั่นบิดาโจทก์และจำเลยได้ให้โจทก์จำเลยร่วมกันทำกิน ครั้น พ.ศ. 2494 นายปั่นบิดาโจทก์จำเลยตาย ปรากฏว่า ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้โจทก์และจำเลยคนละแถวเท่า ๆ กัน ตามพินัยกรรมลงวันที่ 18 มิถุนายน 2491 จำเลยได้ตัดจากเก็บกินตามส่วนสัดที่บิดายกให้ ไม่ได้ตัดในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีการเสียหายอย่างใด ตามที่โจทก์เรียกค่าเสียหายต่อ ๆ ไปอีกปีละ 3,000 บาทนั้น เป็นค่าเสียหายอะไรหาได้บรรยายให้ชัดเจนไม่ ไม่ทราบว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกล่วงหน้าเป็นค่าเสียหายอะไร จึงไม่สามารถจะกล่าวแก้ หากจะมีการเสียหายเกิดขึ้นก็เพียงเล็กน้อย โจทก์เรียกร้องเกินความจริง
คู่ความรับกันว่า แผนที่ตามที่ช่างแผนที่หอทะเบียนที่ดินจังหวัดสมุทรปราการทำมาถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทรายนี้ จำเลยต่อสู้และนำสืบว่า เป็นที่ดินตามใบไต่สวนที่ 103 และ 104 และโจทก์นำสืบว่าไม่ใช่ โดยว่าเป็นที่ดินคนละแปลง เป็นที่ซึ่งโจทก์ได้โก่นสร้างมาจากที่รกร้างว่างเปล่า ข้อนี้เห็นว่าเจ้าพนักงานรังวัดได้บันทึกไว้ในแผนที่พิพาท และมาเบิกความรับรองว่า ข้อความต่าง ๆ ที่ได้จดไว้ในแผนที่นั้นจดตามความจริง ปรากฏว่าที่ดินตามใบไต่สวนที่ 103, 104 นั้นอยู่ในระวาง 12 ต. 1 อ.แต่ที่พิพาทกันอยู่ในระวาง 12 ต. 1 ฎ. ถ้าเป็นที่แปลงเดียวกันก็ต้องอยู่ในระวางเดียวกัน เมื่อฟังว่า ที่ตามใบไต่สวนเลขที่ 103, 104 มิใช่ที่แปลงพิพาท ข้อที่จำเลยอ้างว่าได้รับยกให้ตามพินัยกรรมจึงฟังไม่ได้ เรื่องการครอบครองที่พิพาท พยานโจทก์มีเหตุผลพอฟังได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองโก่นสร้างป่าเป็นนามา และได้เปลี่ยนเป็นสวนจากมาจนทุกวันนี้ ประมาณ 20 ปีเศษแล้ว ฝ่ายพยานจำเลยได้ความว่า จำเลยไปอยู่ที่อื่นเสียนายปีเพิ่งกลับมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พอเข้าไปตัดจากก็ถูกโจทก์ขัดขวางและฟ้องร้องต่อศาลจึงมีน้ำหนักสู้พยานโจทก์ไม่ได้ ฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาท และค่าเสียหายปีต่อ ๆ ไปอีกปีละ 3,000 บาท จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความอีก 300 บาท แทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีน่าเชื่อว่าที่พิพาทมิใช่ที่ดินตามใบไต่สวน 2 ฉบับ เพราะเป็นที่ดินคนละระวาง เนื้อที่ตามใบไต่สวนทั้ง 2 ฉบับก็ไม่ตรงกับเนื้อที่ที่พิพาท พยานโจทก์ก็สืบได้แน่นหนามั่นคงว่า โจทก์ได้หักล้างโก่นสร้างป่ามา พยานจำเลยมีแต่คำนายเมี้ยนเบิกความว่าที่พิพาทมีใบไต่สวน เป็นคำกล่าวลอย ๆ ไม่มีเหตุผล และเบิกความว่าก่อนเป็นความกันนี้ไม่เคยเห็นใบไต่สวนใบไต่สวนทั้ง 2 ฉบับที่จำเลยอ้างก็ไม่มีรูปแผนที่ ปรากฏตามคำพยานจำเลยหลายปาก เช่น นางแช่ม นายชัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานไปทำการรังวัดที่ดินซึ่งอยู่ติดต่อกับที่พิพาทได้ออกหมายเรียกโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ข้างเคียงมาระวังแนวเขตด้วยซึ่งเจือสมพยานโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท จึงฟังว่าที่พิพาทหาใช่ที่ของบิดามารดาโจทก์จำเลยตามใบไต่สวนที่จำเลยอ้างไม่ ส่วนค่าเสียหายตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในปีต่อ ๆ ไป ปีละ 3,000 บาท นั้น จำเลยไม่ทราบว่าเป็นค่าเสียหายอะไรโจทก์มิได้นำสืบและเป็นกาลในอนาคต จำเลยยังมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยแล้ว จำเลยยังตัดจากในที่พิพาทเรื่อยมา โจทก์เคยร้องต่อศาลตามคำร้องลงวันที่ 26 สิงหาคม 2496 ให้จำเลยประมูลค่าเช่า เมื่อฝ่ายใดชนะ ฝ่ายนั้นมีสิทธิรับเอาเงินค่าเช่าไป แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมประมูลค่าเช่าปรากฏตามรายงานพิจารณา ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2496 จำเลยยังติดจากในที่พิพาทเรื่อยมา จำเลยควรต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปจนกว่าจะยุติการกระทำอันเป็นละเมิดนั้น แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 3,000 บาทนั้น เห็นว่ายังคลาดเคลื่อน เพราะได้ความจากโจทก์ว่า ปีหนึ่งถ้าให้เช่าสวนจากจะได้ราว 2,000 บาทซึ่งหมายถึงทั้งแปลง จำเลยตั้งข้อพิพาทไม่เต็มที่ของโจทก์ ยังหย่อนอยู่เกือบ 5 ไร่ตามแผนที่พิพาท จึงสมควรให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปปีละ 1,600 บาท จึงพิพากษาแก้เฉพาะเรื่องค่าเสียหายปีต่อ ๆ ไปว่า ให้จำเลยใช้ให้โจทก์ปีละ 1,600 บาท จนกว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องในที่พิพาท นอกจากที่แก้คงยืน ค่าธรรมเนียมค่าทนายชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับไป
จำเลยฝ่ายเดียวฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงมีว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้โก่นสร้างมา หรือว่าเป็นที่ของฝ่ายจำเลยตามที่ข้อที่เถียงกันมานั้น เมื่อได้ชั่งน้ำหนักหลักฐานพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลนี้เห็นชอบด้วยความเห็นของศาลทั้งสองว่า น้ำหนักหลักฐานพยานฝ่ายโจทก์ น่าเชื่อฟังยิ่งกว่าหลักฐานพยานจำเลยน่าเชื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นที่ของโจทก์ได้โก่นสร้างและครอบครองมาตามเหตุผลที่ศาลทั้งสองได้วินิจฉัยมานั้น ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องเดิมและคำร้องเพิ่มเติมรวมเป็นเงิน 3,000 บาทเฉพาะที่ปรากฏว่าจำเลยได้ตัดต้นจากทำให้โจทก์เสียหายนั้น โจทก์นำสืบพอฟังได้ว่า ต้นจากที่จำเลยตัดไปถ้าเอาไปขายจะได้ราคาราว 3,000 บาท จำเลยไม่มีพยานหักล้างได้ แต่ที่วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายต่อไปอีกปีละ 3,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือปีละ 1,600 บาท (ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์) นั้น ศาลนี้เห็นว่าตามฟ้องเดิมของโจทก์ก็ดี และตามคำร้องเพิ่มเติมก็ดี โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานะขาดประโยชน์ที่ควรมีควรได้ในอนาคตเป็นแต่กล่าวว่า จำเลยได้สมคบกันตัดจากในที่ของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเรียกค่าที่จำเลยกระทำให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน3,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปอีกปีละ 3,000 บาท ข้อนี้จำเลยได้คัดค้านมาแต่แรกว่า เป็นค่าเสียหายอะไร หาได้กล่าวให้ชัดเจนไม่ไม่ทราบว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกล่วงหน้าเป็นค่าเสียหายอะไรโจทก์ก็มิได้แก้ไข ข้อที่จำเลยคัดค้านชั้นฎีกาจำเลยก็ยังคัดค้านความข้อนี้อยู่และว่าโจทก์มิได้นำสืบไว้และเป็นกาลในอนาคต จำเลยยังมิได้ทำการละเมิดต่อโจทก์ หรือนัยหนึ่ง จำเลยยังมิได้ทำการตัดจากตามที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายล่วงหน้ามานั้น แม้จะปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยมาประมูลราคาค่าเช่า แต่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมประมูล ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ดี ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานะขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ อันเป็นคนละเหตุกับที่โจทก์ได้ฟ้องเรียกมาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงพิพากษาแก้เฉพาะว่า จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายล่วงหน้าในปีต่อ ๆ ไป หรือเป็นรายปีตามที่โจทก์ฟ้องเรียก คงให้ชดใช้ 3,000 บาท เท่าที่ปรากฏว่าจำเลยได้ทำให้โจทก์เสียหาย นอกจากที่แก้ พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับไป ปรากฏว่าศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา15 บาท ให้คืนแก่จำเลยไป