คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 19 และ 20 การออกหมายเรียกเป็นขั้นตอนหนึ่งของการประเมิน หากโจทก์เห็นว่าการออกหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมินคือได้รับหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 ถึง 2532 ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 30 เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ก็ต้องถือว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลการขาดทุนสุทธิดังกล่าวเพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) และ 8
ในปี 2533 โจทก์เป็นเพียงผู้ผลิตและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าภายในประเทศ และโจทก์มีบริษัท บ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเป็นลูกค้ารับซื้อแป้งจากโจทก์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่กรรมการโจทก์ต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ทั้งโจทก์ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารในการติดต่อทางการค้ากับลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่ากรรมการของโจทก์เดินทางไปต่างประเทศเพื่อติดต่อลูกค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่และแก้ไขปัญหาสินค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของโจทก์ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) และ (13)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค 0813/199 ลงวันที่ 21 มกราคม 2537 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ สต.2/3 014 250/2/100369 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค 0804/8189 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.1)/180/2545 และเลขที่ สภ.1/(อธ.1)/181/2545 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2545
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2.1 และ 2.2 ว่า ในประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยออกหมายเรียกตรวจสอบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบของจำเลยตามหมายเรียกเลขที่ ต.3/18/2537 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2537 ชอบด้วยมาตรา 19 แห่ง ป. รัษฎากร เพียงฉบับเดียว โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการออกหมายเรียก เลขที่ กค 0813 (ก)/1191 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการไม่ชอบ และการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีไม่ใช่เป็นการประเมินภาษีของจำเลยที่โจทก์จะต้องถูกบังคับตามมาตรา 30 แห่ง ป. รัษฎากร ที่จะต้องโต้แย้งคัดค้านหรืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลภาษีอากรกลางได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยออกหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค 0813/199 ลงวันที่ 21 มกราคม 2537 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 ถึง 2532 เป็นผลมาจากการไต่สวนตามหมายเรียกที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับให้โจทก์จะต้องอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านหนังสือฉบับดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนหนังสือฉบับนี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการเปลี่ยนผลขาดทุนสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2534 คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ 2 ข้อนี้ รวมกันไป เห็นว่า ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 19 และมาตรา 20 เมื่อพิจารณาถ้อยคำตามตัวบทในสองมาตรานี้ประกอบกันแล้วจะเห็นได้ว่า การออกหมายเรียกนั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งของการประเมินนั่นเอง หากโจทก์เห็นว่าการออกหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างใดก็ชอบที่จะโต้แย้งคัดค้านโดยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมินซึ่งได้แก่หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 ถึง 2532 ตามที่ ป. รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต้องถือว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิดังกล่าว เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) และ 8 กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลภาษีอากรกลางจะต้องวินิจฉัยว่าการออกหมายเรียก เลขที่ กค 0813 (ก)/1191 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในประเด็นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อ 2.3 ต่อไปว่า ค่าใช้จ่ายของกรรมการโจทก์ในการเดินทางไปประเทศสหภาพโซเวียต ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศในแถบทวีปอเมริกาใต้ และประเทศญี่ปุ่น เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ ในปี 2533 โจทก์เป็นเพียงผู้ผลิตและขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศ และโจทก์มีบริษัท บ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือและเป็นลูกค้าของโจทก์ที่รับซื้อสินค้าแป้งจากโจทก์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่กรรมการโจทก์ต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ทั้งโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารในการติดต่อทางการค้ากับลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่ากรรมการของโจทก์เดินทางไปต่างประเทศนั้นเป็นการไปติดต่อลูกค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่และแก้ไขปัญหาสินค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของโจทก์ ดังนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงต้องห้ามไม่ให้ถึงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่ง ป. รัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีอากรและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลย.

Share