คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กิจการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังมิใช่ราชการส่วนกลางอันต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1(1) โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบ เมื่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนและเป็นการปฏิบัติงานให้แก่จำเลยตามสิทธิของนายจ้างที่จะมีคำสั่งได้ระหว่างนั้นทรัพย์สินของจำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของโรงงานยาสูบ 5ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลย ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปปฏิบัติงานซึ่งมิใช่งานในหน้าที่ประจำของโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินคิดเป็นเงิน60,847 บาท 42 สตางค์ จำเลยได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นทำการสอบสวนและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดในความเสียหายนี้ ความจริงโจทก์ทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมในเหตุดังกล่าวขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ท 200/2528 ซึ่งให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดในความเสียหายจำนวน 60,847 บาท 42 สตางค์
จำเลยให้การว่า ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานซึ่งเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบแบบแผนสัญญาจ้างและตามสภาพการจ้างของจำเลยแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงต้องรับผิดและคดีนี้ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงาน และกระทรวงการคลังเป็นราชการส่วนกลางไม่อยู่ในบังคับที่จะถูกฟ้องต่อศาลแรงงานได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่ากระทรวงการคลังต้องรับผิดต่อกิจการของโรงงานยาสูบ โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อดจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานได้และข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ท. 200/2528ในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องกระทรวงการคลังเป็นจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่ากระทรวงการคลังเป็นราชการส่วนกลางอันต้องด้วยประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 1(1) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กระทรวงการคลังรวมทั้งกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดกระทรวงการคลังเป็นราชการส่วนกลางตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29กันยายน 2515 ข้อ 3 และ ข้อ 5(2) (4) และกระทรวงการคลังมีส่วนราชการที่เป็นกรมและที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515ข้อ 10 รวม 8 ส่วนราชการ ซึ่งหาได้มีโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังรวมอยู่ด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฎว่าโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังเป็นส่วนราชการของกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลังแต่อย่างใด ดังนั้นกิจการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังจึงมิใช่ราชการส่วนกลางอันต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 1(1) โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการของโรงงานยาสูบได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัยหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีนี้มิใช่คดีพิพาทอันเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบซึ่งเป็นกิจการของจำเลยดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เมื่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสองได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองมาปฏิบัติหน้าที่แม้เป้นวันหยุดประจำสัปดาห์ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการให้มาปฏิบัติงานให้แก่จำเลยตามสิทธิของนายจ้างที่จะมีคำสั่งได้ กรณีจึงเป็นเรื่องของการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบ และจำเลยก็ยังได้ให้การรับว่า ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปฏิบัติหน้าที่ทำความสะอาดเครื่องบีบก้านใบยาในวันที่ 18 สิงหาคม 2527 โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนและตามสัญญาจ้างตามสภาพการจ้างของจำเลยแล้วเมื่อโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย โจทก์ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อจำเลย เช่นนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8(1) ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้”
พิพากษายืน.

Share