แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทจาก ช. โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้ก่อนเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและตึกแถวพิพาท จำเลยเข้าอยู่อาศัยในตึกแถวและที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่พิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากบริษัท ช.เคหะกิจเจริญ จำกัด ขณะนั้นมีนายชาย ตันศักดานุวัตร์หรือตันศักดิ์นุวัตร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยให้นายชายโอนบ้านพิพาทให้แก่จำเลย แต่นายชายไม่อาจโอนให้ได้ จำเลยจึงฟ้องเพื่อขอให้จำเลยมีชื่ออยู่ในบ้านดังกล่าว ที่สุดศาลมีคำสั่งอนุญาต การที่โจทก์ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากนายชายเจ้าของเดิมโดยทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินและบ้านดังกล่าวจากเจ้าของเดิมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตฉ้อฉลจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากนายชาย ตันศักดานุวัตร์และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่ 25กันยายน 2522 มีปัญหาว่า ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโจทก์รู้หรือไม่ว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทนี้จากนายชายแล้ว ซึ่งจำเลยเบิกความว่า ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 90/6 และ90/7 จากบริษัท ช.เคหะกิจเจริญ จำกัด โดยนายชาย ตันศักดานุวัตร์กรรมการผู้จัดการขายให้เมื่อวันที่ 12 และ 14 กันยายน 2521 และตกลงจะผ่อนชำระให้เสร็จในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2523 ในวันทำสัญญาวางมัดจำไว้ห้องละ 10,000 บาท ต่อมานางชบาและโจทก์ซึ่งบอกว่าเป็นเลขานุการของบริษัท ช.เคหะกิจเจริญ จำกัด มาเก็บเงินจากจำเลยหลังจากทำสัญญาแล้วประมาณ 6 เดือน จำเลยก็เข้าอยู่ในห้องเลขที่90/6 จำเลยได้ชำระเงินให้นายชายไปเป็นเงิน 90,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ต่อมาบริษัทดังกล่าวปิดกิจการ จำเลยจึงฟ้องบริษัทดังกล่าวกับนายชายและพวกเป็นคดีอาญาในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและฟ้องคดีแพ่งให้นายชายใส่ชื่อจำเลยกับพวกเข้าในทะเบียนบ้านทั้งสองห้องดังกล่าว ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากนายชายก่อนที่โจทก์จะซื้อและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาจากนายชายและโจทก์ก็เบิกความรับว่ารู้จักนายชายมาก่อนโดยนายชายนำเช็คมาขายลดกับโจทก์ และก่อนซื้อตึกแถวและที่ดินพิพาทโจทก์ไปตรวจดูมาก่อนแล้วขณะกำลังก่อสร้าง โจทก์วางมัดจำกับนายชาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม2522 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากจำเลยวางมัดจำไว้แล้วถึง 11 เดือนเศษโจทก์น่าจะได้พบจำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทแล้ว เพราะจำเลยว่าได้เข้าไปอยู่หลังจากวางมัดจำแล้ว 6 เดือน และโจทก์เบิกความต่อไปว่า ในปีพ.ศ. 2523 โจทก์ไปดูตึกแถวพิพาทอีกก็เห็นว่าจำเลยอยู่ในตึกแถวของโจทก์แล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ดำเนินการอย่างใดกับจำเลย เพียงแต่นายชายรับว่าจะจัดการให้และปล่อยให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทเป็นเวลาถึง3 ปีเศษ จึงมาฟ้องคดีนี้ พฤติการณ์ของโจทก์และนายชายน่าเชื่อว่าโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากนายชายโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้ก่อน เป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตโจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทไม่ได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างโจทก์กับนายชาย นิติกรรมนี้ย่อมสมบูรณ์อยู่ตลอดไปโจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยได้นั้น เห็นว่า นายชายมิได้เป็นโจทก์ในคดีนี้อันจำเลยจะฟ้องแย้งได้ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านิติกรรมการโอนดังกล่าวโจทก์กระทำลงโดยไม่สุจริต โจทก์ก็ไม่สามารถอ้างความไม่สุจริตของตนมาฟ้องขับไล่จำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.