คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดอาญา ซึ่งตนไปนอกเขตต์ที่ตนประจำการอยู่ได้และเมื่อเรียกสินบนจากผู้กระทำผิดนั้น ก็ต้องเป็นผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกสินบน

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจภูธรประจำอยู่ที่อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้ติดตามจับผู้ร้ายมาในท้องที่อำเภออุทุมพร จังหวัดศรีษะเกษ จำเลยได้จับนายพรหมกับพวกในท้องที่จังหวัดศรีษะเกษซึ่งกำลังดื่มสุราเถื่อนอยู่ แล้วจำเลยยังอาจเรียกเอาเงินจากนายพรหม กับพวกเป็นสินบนเพื่อปล่อยให้พ้นความผิด โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๓๗, ๑๓๘ และมาตรา ๑๔๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีอำนาจจับกุมนายพรหม กับพวก เพราะเหตุเกิดนอกเขตต์ที่จำเลยรับราชการอยู่ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปัญหาว่า จำเลยโดยตำแหน่งหน้าที่เป็นตำรวจมีอำนาจจับนายพรหมกับพวกนอกเขตต์ที่ตนรับราชการอยู่หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า อำนาจและหน้าที่ของตำรวจในฐานะพนักงานสืบสวนนั้น บัดนี้ได้มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติวางอำนาจและหน้าที่ไว้โดยชัดเจนแล้วตาม มาตรา ๒(๑๖) ตำรวจคือเจ้าพนักงานที่กฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และในมาตรา ๑๗ ได้บัญญัติว่า ตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ ไม่มีบทบัญญัติในที่ใดว่า ตำรวจจะทำการสืบสวนคดีอาญาได้แต่ฉะเพาะในเขตต์ที่ตนประจำการอยู่ ตรงกันข้ามกลับมีกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบตำรวจ เพื่อให้ตำรวจแสดงว่าตนเป็นตำรวจได้ในที่ทุกสถาน เมื่อปรากฎว่าจำเลยได้แสดงตนเป็นตำรวจจับกุมนายพรหม กับพวก แล้วเรียกสินบนแทนการนำส่งสถานีตำรวจตามที่บัญญัติไว้ในวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ และ ๘๔ จำเลยก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๘ วรรค ๒ พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share