แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในระหว่างสอบสวนโจทก์ ได้ทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมลงชื่อตามที่จำเลยต้องการจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่โจทก์ เป็นความผิดตามมาตรา 157,391
ถูกชกตีไม่ปรากฏบาดแผล เป็นอันตรายแก่กาย แล้ว ถูกพันธนาพาตัวไปคุมขังไว้ใต้สถานีตำรวจแต่เดียวดาย ไกลหูไกลตาผู้ต้องหาด้วยกัน เช่นนี้ ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจตามมาตรา 295
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ต้องการเพียงว่า ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็เพียงพอที่จะเป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งของการที่จะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้แล้ว หาต้องนำสืบไม่แม้มิได้นำสืบ ศาลก็อาจคำนึงถึงอายุ และอื่นๆ เท่าที่พึงมีปรากฏในสำนวนนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้บังคับหมวด จำเลยที่ ๓ เป็นผู้บังคับหมู่ จำเลยที่ ๔,๕ เป็นลูกหมู่เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญา และจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา ร่วมกันแกล้งจับกุมโจทก์มากักขังแล้วปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนโดยมิชอบ ข่มขืนใจโจทก์โดยมีอาวุธและใช้กำลังกาย ชกตีโจทก์จนเกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ใช้โซ่เหล็กพันธนาการเกินกว่าความจำเป็นในการควบคุมและทรมานโจทก์จนบาดเจ็บ เพื่อให้โจทก์ยอมรับว่าได้สมคบกับผู้มีชื่อฆ่าโคโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เป็นความจริง เพื่อให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาและเสียหายแก่นายโพธิ์ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗,๒๐๐,๒๙๕,๓๙๑,๓๐๙,๘๓,๙๐,๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว คดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๖ ให้ประทับฟ้อง นอกนั้นไม่มีมูล
จำเลยที่ ๑,๒,๖ ให้การปฏิเสธ
โจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ผิดฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา ๑๕๗ ฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงบาดเจ็บ มาตรา ๓๙๑ รอการลงโทษ ๒ ปี ยกฟ้องจำเลยที่ ๖
โจทก์จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนโดยมิชอบ ข่มขืนใจโจทก์โดยใช้กำลังชกตีโจทก์ ต้องผิดตามมาตรา ๑๕๗,๓๙๑
ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาตามฟ้อง ในระหว่างการสอบสวนในห้องสอบสวนใต้ถุนสถานีตำรวจ จำเลยที่ ๑ ได้ทำร้ายโจทก์เพราะโจทก์ไม่ยอมรับสารภาพ ไม่ยอมาลงชื่อตามที่ จำเลยที่ ๑ ต้องการ เป็นการที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามมาตรา ๑๕๗,๓๙๑ จึงเป็นการชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ สั่งจับโจทก์เพื่อดำเนินคดีอาญา เป็นการแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษทางอาญา เป็นผิดมาตรา ๒๐๐ นั้น
เห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดข้อนี้โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในความผิดข้อนี้
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ใช้กำลังชกตีโจทก์ แม้จะไม่ปรากฏบาดแผลเป็นอันตรายแก่กายอย่างแรง แต่เมื่อโจทก์ถูกทำร้ายแล้วยังถูกพันธนาพาตัวไปคุมขังไว้ใต้ถุนสถานีแต่เดียวดายไกลหูไกลตาผู้ต้องหาด้วยกัน ย่อมเกิดอันตรายแก่จิตใจอย่างแรงและเห็นได้ชัด เป็นผิดตามมาตรา ๒๙๕ นั้น
เห็นว่า แม้เป็นจริงดังโจทก์อ้าง ก็ไม่เป็นอันตรายแก่จิตใจตามมาตรา ๒๙๕
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมิได้นำสืบถึงเหตุอันควรปรานีตามมาตรา ๕๖ ศาลจะไปรู้ว่าจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติดีมาก่อนหรือไม่เคยกระทำผิดมาก่อน เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน ไม่ชอบด้วยการพิจารณา
เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ต้องการเพียงว่า ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน ก็เพียงพอที่จะเป็นองค์ประกอบองค์หนึ่งของการที่จะพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือให้รอการลงโทษได้แล้ว หาต้องนำสืบไม่ แม้มิได้มีการนำสืบไว้เป็นพิเศษในสำนวน ศาลก็อาจคำนึงถึงอายุและอื่นๆ เท่าที่พึงมีปรากฏอยู่ในสำนวนนั้นได้
พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗,๓๙๑ กำหนดโทษจำคุกตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนัก สองปี รอการลงโทษมีกำหนดสามปี นอกนั้นยืน