คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่เกี่ยวกับผู้เยาว์อันว่าด้วยเรื่องอำนาจปกครองและความปกครองนั้นไม่เหมือนกับคดีธรรมดาสามัญอื่นทั่วไปบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 2 หมวด 2 และ 3 ให้อำนาจแก่ศาลเป็นพิเศษ ในอันที่จะป้องกันสวัสดิภาพและรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ แม้ผู้เยาว์นั้นจะมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่แล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมด และจะสั่งถอนผู้ปกครองเสียก็ได้ อำนาจเช่นว่านี้ศาลจะสั่งเองโดยไม่จำต้องมีใครร้องขอก็ได้ในเมื่อมีคดีเดิมเรื่องตั้งผู้ปกครองอยู่แล้ว หรือจะสั่งในเมื่อมีบุคคลผู้มีสิทธิร้องขอขึ้นมาก็ได้ตามมาตรา 1552,1574 และ 1575 เพราะอำนาจควบคุมและคุ้มครองของศาลยังคงมีอยู่เรื่อยไป (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 797/2499)
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามคำสั่งศาล และตั้งโจทก์เป็นผู้ปกครองแทน การฟ้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ เมื่อปรากฏเรื่องการใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ต่อศาลภายหลังที่มีคดีเดิมเรื่องตั้งผู้ปกครอง ศาลมีอำนาจที่จะนำมาตรา 1552 มาบังคับคดีและเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเข้ามาในการไต่สวนเกี่ยวกับการถอนผู้ปกครองเดิมและการตั้งผู้ปกครองใหม่ได้ แม้โจทก์จะถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณา ก็ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีศักดิ์เป็นตาเด็กชายวีระ เกณฑ์กระโหกนายผ่องนางสาครบิดามารดาของเด็กชายวีระถึงแก่กรรมหมด จำเลยซึ่งเป็นพี่นางสาครได้ยื่นคำร้องเท็จต่อศาลขออำนาจเป็นผู้ปกครองศาลหลงเชื่อจึงมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้ปกครองเด็กชายวีระและให้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทน จำเลยได้เบียดบังทรัพย์มรดกของเด็กชายวีระ และใช้อำนาจปกครองเป็นปฏิปักษ์ต่อเด็กอย่างร้ายแรงจึงขอให้ศาลสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองและตั้งโจทก์เป็นแทน

จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยมิได้ประพฤติชั่วหรือเป็นภัยอย่างใดต่อการปกครองและกองทรัพย์สิน

ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ สืบเสาะข้อเท็จจริงแล้ว รายงานความเห็นว่า คดีควรได้รับการพิจารณาจากศาลโดยตรง

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จ โจทก์ถึงแก่กรรม ศาลจึงเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจฯ เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ต่อไปแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยบกพร่องในเรื่องความสามารถ ละเลยและเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ หากปล่อยให้จำเลยเป็นผู้ปกครองต่อไป ประโยชน์ของเด็กชายวีระจะต้องเป็นอันตราย จึงพิพากษาให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองเด็กชายวีระผู้เยาว์ และตั้งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดนครราชสีมาเป็นผู้ปกครองแทนตั้งแต่วันพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574, 1555, 1556 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 70 ให้จำเลยทำบัญชีทรัพย์สินและส่งมอบทรัพย์สินของเด็กชายวีระแก่ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ผู้ปกครองใหม่ภายใน 20 วัน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นคดีเฉพาะตัวนายคง สุบงกช เมื่อนายคงตาย คดีย่อมระงับด้วยเหตุแห่งการตายของนายคงโดยสิ้นเชิง หาอาจมีตัวแทนเข้ามาแทนที่ได้อีกต่อไปไม่ และต้องถือว่าสิทธิที่จะฟ้องร้องว่ากล่าวเพิกถอนอำนาจจำเลยได้ระงับลงทันที อำนาจและสิทธิของจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนไม่ได้ถูกฟ้องร้อง จะนำบทบัญญัติมาตรา 1552 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้นั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในฎีกาที่ 797/2499 คดีระหว่างนางปาน จำปาทาสี มารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงจำนวน จำปาทาสี ฯลฯ ผู้ร้อง นายสุบิน ยิงรัมย์ ผู้คัดค้าน แล้วว่ากรณีที่เกี่ยวกับผู้เยาว์อันว่าด้วยเรื่องอำนาจปกครองและความปกครองนี้ ไม่เหมือนกับคดีธรรมดาสามัญอื่นทั่วไป ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 2 และหมวด 3 ซึ่งให้อำนาจแก่ศาลเป็นพิเศษ ในอันที่จะป้องกันสวัสดิภาพและรักษาผลประโยชน์ของผู้เยาว์ แม้ผู้เยาว์นั้นจะมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองอยู่แล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมด และจะสั่งถอนผู้ปกครองเสียก็ได้ อำนาจเช่นว่านี้ ศาลจะสั่งเองโดยไม่จำต้องมีใครร้องขอก็ได้ ในเมื่อมีคดีเดิมเรื่องตั้งผู้ปกครองอยู่แล้ว หรือจะสั่งในเมื่อมีบุคคลผู้มีสิทธิร้องขอขึ้นมาก็ได้ตามมาตรา 1552, 1574 และ 1575 เพราะอำนาจควบคุมและคุ้มครองของศาลยังคงมีอยู่เรื่อยไป คดีนี้ก็ฟังได้ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า นายคงโจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้ตั้งนายคงเป็นผู้ปกครองเด็กชายวีระเท่านั้น แต่ยังฟ้องขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองเด็กชายวีระด้วย อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของเด็กชายวีระ ดังนั้นเห็นได้ว่าได้มีเรื่องการใช้อำนาจปกครองเด็กปรากฏขึ้นต่อศาลภายหลังที่มีคดีเดิมเรื่องตั้งผู้ปกครองอยู่แล้ว ศาลจึงมีอำนาจที่จะนำมาตรา 1552 มาบังคับคดี และศาลชอบที่จะเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจ ฯ เข้ามาในการไต่สวนเกี่ยวกับการถอนผู้ปกครองเดิมและการตั้งผู้ปกครองใหม่ทั้งนี้แม้ศาลล่างจะใช้คำว่าให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนนายคง ก็ถือได้ว่า เป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งในการไต่สวนนั่นเอง ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาฟังว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการส่อแสดงถึงความประพฤติมิชอบหรือการหย่อนความสามารถของจำเลยในหน้าที่ผู้ปกครองตามมาตรา 1574 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลล่างที่พิพากษาให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ปกครองเด็กชายวีระ

พิพากษายืน

Share