คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1391/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯนั้น เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง โจทก์ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มิได้ห้ามคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในอันที่จะมีคำสั่งให้นายจ้างผู้กระทำการอันไม่เป็นธรรมใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้าง ดังนั้น การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบ และเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้นจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอย่างใด หาใช่โจทก์เป็นผู้เลือกไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามที่โจทก์ต้องการแต่ยอมจ่ายค่าเสียหายให้ซึ่งโจทก์ไม่ต้องการ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามคำสั่ง

จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเลือกให้จำเลยปฏิบัติ

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า จำเลยมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใดได้ให้ยกฟ้องโจทก์

ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างทำความเห็นแย้งว่า จำเลยจะต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานเพียงอย่างเดียว จะเลือกเอาการใช้ค่าเสียหายไม่ได้ ในการปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้นต้องปฏิบัติตามคำสั่งลำดับแรกก่อน เมื่อทำไม่ได้จึงปฏิบัติตามคำสั่งลำดับต่อไปตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1988/2522

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 41, 121 นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง โจทก์ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวขัดกับมาตรา 41, 121 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติที่กล่าวมิได้ห้ามคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในอันที่จะมีคำสั่งให้นายจ้างผู้กระทำการอันไม่เป็นธรรมใช้ค่าเสียหายให้ลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 121 มิได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในการวินิจฉัยชี้ขาดและมีคำสั่งในกรณีนี้แต่อย่างใดส่วนมาตรา 41 นอกจากจะมิได้บัญญัติห้ามแล้ว ยังบัญญัติไว้ในข้อ (4) ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ “วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องตามมาตรา 125 และกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร” ดังนั้น การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยมาตรา 41(4) แล้ว

ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือมิฉะนั้นให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ มีความหมายว่าการปฏิบัติตามคำสั่งจะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แม้จำเลยสามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกระทำ โดยเลือกเอาการใช้ค่าเสียหายแทนได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1988/2522 ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และตามคำสั่งดังกล่าวก็มีความหมายว่า ให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องปฏิบัติตามเป็นผู้มีสิทธิเลือกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างใด หาใช่ให้โจทก์เป็นผู้เลือกไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน

พิพากษายืน

Share